ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์ย่อตัว ยอดค้าปลีกสหรัฐหดตัว

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์ย่อตัว ยอดค้าปลีกสหรัฐหดตัว

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ก.พ. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้จากการที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัว หลังรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือนม.ค. หดตัว มองกรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.18 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.03-36.18 บาทต่อดอลลาร์) ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม หดตัว -0.8%m/m แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ขณะเดียวกัน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ยังออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เล็กน้อย (ตลาดมอง ลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง) นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ จากดอลลาร์ย่อตัว ยอดค้าปลีกสหรัฐหดตัว

แนวโน้มค่าเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาท แม้ยังคงมีอยู่ แต่ก็เริ่มแผ่วลงบ้าง ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ และอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เรามองว่า นอกจากทิศทางเงินดอลลาร์ ผู้เล่นในตลาดควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับทิศทางเงินบาทได้ในระยะสั้น โดยเราประเมินว่า ราคาทองคำอาจเริ่มอยู่ในช่วงสร้างฐานราคา หลังปรับตัวลงแรงก่อนหน้า ทำให้ยังพอมีโอกาสได้ลุ้นการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง 

ขณะเดียวกัน หากบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงก็อาจช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อหุ้นไทย เพราะในช่วงนี้ หุ้นขนาดเล็ก-กลาง เป็นกลุ่มที่กำลังทำผลงานได้ดี ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ ยังไม่ได้มีการรีบาวด์ขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนจากผลตอบแทนที่แตกต่างของดัชนี SSET หรือ MAI เทียบกับ ดัชนี SET50

ทั้งนี้ ในเชิงเทคนิคัล หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าต่อ และพลิกกลับมาย่อตัวลง จนแกว่งตัวแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า เงินบาทก็จะเริ่มมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัว sideways ตามสัญญาณ อาทิ Shooting star pattern, Bearish Divergence บน RSI เป็นต้น ซึ่งหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้จริง ก็อาจเผชิญแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับในระยะสั้น

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยความหวังว่าเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ยอดค้าปลีก และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง) เริ่มออกมาแย่กว่าคาดบ้าง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) ออกมาบ้าง อาทิ Alphabet -2.2%, Nvidia -1.7% ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.58%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.68% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจาก ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษล่าสุด ที่ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่าทั้ง BOE และ ECB อาจสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มออกมาแย่กว่าคาดบ้าง ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงทดสอบโซน 4.20% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่ระดับ 4.24% ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในโซนเหนือกว่า 4.20% ถือเป็นระดับที่น่าสนใจ และนักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (เรายังประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% ได้ง่ายนัก) อนึ่ง นักลงทุนอาจใช้กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือ ETF อย่าง IEF (iShares 7-10 Year Treasury Bond ETF) รวมถึงตราสารที่มี IEF เป็น underlying เพื่อเป็น proxy ในการลงทุนตามมุมมองดังกล่าวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด และบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้น ทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง (สอดคล้องกับมุมมองที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า) แต่โดยรวมราคาทองคำก็ยังสามารถแกว่งตัวแถว 2,015 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ 

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofM Consumer Sentiment) โดยในส่วนรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะกลาง จะมีทิศทางอย่างไร 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งอังกฤษ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมกราคม  และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน