ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-รอข้อมูลศก.สหรัฐ

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-รอข้อมูลศก.สหรัฐ

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.พ. 67 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์อ่อนค่า หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ลดการถือครองเงินดอลลาร์ รอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ มองกรอบวันนี้ 35.90-36.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.15 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และประเมินกรอบในช่วง 35.90-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.พ. 67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-รอข้อมูลศก.สหรัฐ

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทได้ชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.09-36.21 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง 

ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้านจิตวิทยา 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็ส่งผลให้ บรรดาผู้เล่นในตลาดทั้งผู้ส่งออก รวมถึงผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ทยอยขายเงินดอลลาร์รวมถึงขายทำกำไรสถานะ Short THB ออกมาบ้าง (โดยเฉพาะในช่วง 36.15-36.20 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาท

เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ แม้ว่าอาจจะมีการแข็งค่าขึ้นมาบ้าง แต่เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้ เรามองว่า เงินบาทยังเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในกรณีที่ เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อ หรือ ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง กดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยเพิ่มเติม 

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 20.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า สุดท้ายเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot จริง ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ กดดันราคาทองคำและเงินบาท ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ยอดค้าปลีก ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มกลับมามองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมได้ หรือ เฟดก็อาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง ซึ่งจะหนุนการรีบาวด์ของราคาทองคำ และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ที่อาจลงมาทดสอบโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (หรืออาจหลุดโซนแนวรับดังกล่าวได้ไม่ยาก)

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Meta +2.9% ขณะเดียวกัน หุ้นในธีม AI อย่าง หุ้นกลุ่ม Semiconductor ต่างก็ปรับตัวขึ้นแรง ท่ามกลางความหวังว่า ผลประกอบการของ Nvidia +2.5% จะออกมาสดใส ตามกระแสการประยุกต์ใช้ AI ที่กำลังมาแรง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์แรงกว่า +1.30% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.96%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.50% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาสดใส ขณะเดียวกัน รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษล่าสุด ได้ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาส 2 หลังการประชุม BOE ล่าสุด ได้มีคณะกรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้ BOE ลดดอกเบี้ยลง -25bps 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างเริ่มทยอย Buy on Dip บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ มากขึ้น หลังล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นแรงทะลุโซน 4.30% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 4.25% ตามแรงซื้อบอนด์ดังกล่าว โดยแม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะปรับมุมมองการลดดอกเบี้ยของเฟดใหม่ ว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ใกล้เคียงกับ Dot Plot ล่าสุด ทว่า แนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็จะมีแนวโน้มทยอยลดลง และระดับบอนด์ยีลด์ล่าสุดที่ขึ้นมาเหนือระดับ 4.30% ก็มีความน่าสนใจ (สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำกลยุทธ์ เน้น Buy on Dip โดยเฉพาะในโซนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงกว่า 4.20%) เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะนี้ยังคงออกมาสดใส/ดีกว่าคาด ทว่าการปรับตัวขึ้นก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเบื้องต้นประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% ไปได้ง่ายนัก อนึ่ง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในโซนเหนือกว่า 4.20% ก็เป็นระดับที่น่าสนใจ และนักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ชะลอการแข็งค่าลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้เงินดอลลาร์มีความน่าสนใจลดลงและโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงบ้างสู่ระดับ 104.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.6-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพลิกกลับมาย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อเข้าใกล้โซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ได้เข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานแรงก่อนหน้า อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว หากเกิดขึ้นได้จริง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทหรือช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales)  ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีภาคการผลิตของบรรดาเฟดสาขาต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาผู้เล่นในตลาดได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสและแข็งแกร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ตามที่เคยได้ประเมินไว้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของฝั่งอังกฤษ อย่าง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB