7 บลจ.เตรียมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้อง STARK

7 บลจ.เตรียมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้อง STARK

7 บลจ. เดินหน้าเตรียมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้อง STARK เร็วที่สุด ไม่ให้ตกขบวน ล่าสุดวันนี้ สมาคม AIMC จะเรียกสมาชิกฯ ประชุมด่วน เพื่อเคาะแนวทางฟ้องร้อง ปิดช่องว่างทางกฎหมาย หากยื่นฟ้องแบบกลุ่ม ชี้ทำได้ง่าย ทีเดียวจบ หวังปกป้องอุตสาหกรรม

นางชวินดา หาญรัตนกูล  นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกรณีการลงทุนในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)  กล่าวว่า ตามที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 7 แห่ง ได้มีการลงทุนใน STARK ผ่านการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement  - PP) และ STARK ได้มีการนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีการเปิดเผยงบการเงินอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้กองทุนภายใต้การจัดการของบลจ.ได้รับความเสียหายนั้น  บริษัทจัดการ 7 แห่ง ภายใต้ AIMC ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาและติดตามผลประโยชน์ของกองทุนอย่างเต็มความสามารถ

โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

1. การแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สำหรับทุกกองทุนที่ได้รับความเสียหาย

2. การยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายสำหรับทุกกองทุน

3. การเข้าพบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้การในฐานะพยาน และนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีต่อ STARK

4. การเข้าพบผู้บริหารสำนักงาน ก.ล.ต. และผู้บริหาร DSI เพื่อหารือแนวทางในการดำเนินคดีกับ STARK เพื่อเอาผิด และติดตามให้ได้มาซึ่งการชดใช้ค่าเสียหาย และค่าสินไหมทดแทนของกองทุน

 

ทั้งนี้ ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่มีการกล่าวหากรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของ STARK อันเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกันกระทำการลงข้อความเท็จในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท ร่วมกันทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงจัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลโดยมิชอบเบียดบังทรัพย์สินเป็นของตนเองหรือผู้อื่นแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 41, 343 ไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้วมีคำสั่งฟ้องกรรมการ ผู้บริหารบริษัท STARK กระทำการทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตามที่ปรากฏข่าวแล้วนั้น

ล่าสุด ทาง AIMC ได้เข้าพบพนักงานอัยการเพื่อหารือแนวทางการดำเนินคดี และเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในการฟ้องกรรมการ ผู้บริหารบริษัท STARK และบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

"ในวันนี้ทางสมาคมเรียกประชุมสมาชิก หารือแนวทางการฟ้อง จะเป็นแบบกลุ่มหรือแบบเดียว ซึ่งมองว่า หากดำเนินการฟ้องแบบกลุ่ม จะทำเรื่องได้ง่าย และครบจบในครั้งเดียวแต่ต้องมาพิจารณาเพิ่มเติมอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในเรื่องของกฎหมาย คาดว่าจะได้ข้อสรุป และดำเนินคดีต่อโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันหลังจาก ก.ล.ต.ได้ดำเนินอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินออกไปอีก 180 วัน นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 และศาลฯ จะพิจารณาให้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิ.ย.นี้  มองว่า เมื่อแนวทางมีความชัดเจนแล้ว เราต้องเร่งดำเนินการไม่ควรตกขบวนการฟ้องร้อง เพื่อปกป้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมฯ "

นางชวินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมให้ความสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจที่ได้รับจากผู้ถือหน่วยลงทุน และมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบสูงสุด เชื่อมั่นว่าการทำหน้าที่ของทุก บลจ.ในกรณีนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถของทุก บลจ. และจะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) และความยั่งยืน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์