เครดิตบูโร ชี้ ‘หนี้บังคับคดี’ พุ่ง15ล้านล้าน สินเชื่อบ้าน ค้างชำระ 3.5 แสนล.

เครดิตบูโร ชี้ ‘หนี้บังคับคดี’ พุ่ง15ล้านล้าน  สินเชื่อบ้าน ค้างชำระ 3.5 แสนล.

เครดิตบูโร กางหนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีพุ่ง 15ล้านล้าน ใกล้เทียบเท่าจีดีพีไทยที่ 17ล้านล้าน ห่วงสินเชื่อบ้าน หนี้เสีย-ค้างชำระหนี้พุ่ง รวม3.5แสนล้าน รับดอกเบี้ย มีส่วนกระทบผู้มีรายได้น้อยค้างหนี้

เครดิตบูโร ชี้ ‘หนี้บังคับคดี’ พุ่ง15ล้านล้าน  สินเชื่อบ้าน ค้างชำระ 3.5 แสนล. ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หนี้ครัวเรือนไทย” วันนี้อาการไม่ได้สู้ดีนัก ภายใต้หนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่น่าห่วงกว่านั้น คือ หนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี หรือที่มีหมายบังคับคดี ทั้งที่เจ้าหนี้ชนะคดีแล้ว และกลุ่มที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี ที่มีอีกจำนวนมากในปัจจุบัน ที่กำลังถูก “ยึดทรัพย์” ต้องถูกดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาล ตามกฎหมาย เพื่อปิดจบหนี้!

สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยข้อมูลหนี้ที่มีหมายบังคับคดีแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาบังคับคดี หรือ กลุ่มที่อยู่ระหว่างบังคับคดี บนข้อมูลที่มีการนำเสนอในที่ประชุมของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินประชาชนของรัฐบาลล่าสุด ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูล “หนี้” ที่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี นั่นหมายถึง ที่เจ้าหนี้ชนะคดีแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดี ณ พ.ย. ปี 2566 มีทั้งสิ้น 2,674,081 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์ หรือมูลหนี้รวมที่ 15.99 ล้านล้านบาท

โดยหนี้เหล่านี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หนี้ที่ “เจ้าหนี้ชนะคดีแล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับคดี” มีทั้งสิ้น 1.05 ล้านคดี คิดเป็นทุนทรัพย์รวม 15 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นหนี้บัตรเครดิต 2.99 แสนคดี รวม 3.68 หมื่นล้านบาท หนี้เช่าซื้อ 1.79 แสนคดี 6.4 หมื่นล้านบาท หนี้นิติบุคคล 1 ล้านคดี รวม 7.12 แสนล้านบาท และหนี้บุคคลธรรมดา 1 แสนคดี รวม 1.48 แสนล้านบาท รวมถึงหนี้จากบุคคลธรรมดาที่สันนิษฐานว่าเป็นหนี้นอกระบบ 6.9 พันคดี วงเงินรวม 1.745 ล้านล้านบาท (สันนิษฐานจากเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าหนี้มากกว่า 20 คดี)

รวมไปถึง “หนี้ที่อยู่ระหว่างบังคับคดี” มีทั้งสิ้น 6.91 แสนคดี วงเงินรวม 7.61 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้ของสถาบันการเงิน 2 แสนคดี วงเงินรวม 3.67 แสนล้านบาท หากดูประเภทหนี้ มาจากหนี้บัตรเครดิต 7.9 หมื่นคดี วงเงินรวม 7.5 พันล้านบาท หนี้สินเชื่อเช่าซื้อ 5.1 หมื่นคดี วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท หนี้นิติบุคคล 3.17 แสนคดี วงเงินรวม 2.98 แสนล้านบาท หนี้จากบุคคลธรรมดา 2.9 หมื่นคดี รวม 6.7 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่สันนิษฐานว่าเป็นหนี้นอกระบบอีก 1.2 หมื่นคดี วงเงินรวม 3.6 หมื่นล้านบาท

หนี้เหล่านี้ คือหนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี เพื่อให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ โดยการบังคับเอา “บ้าน-รถ” หรือทรัพย์สินอื่นๆ มาชำระหนี้

ซึ่งหนี้ทั้งหมดที่มีกว่า 15 ล้านล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี หรือบังคับคดีแล้ว เกือบเทียบเท่ากับ “หนี้ครัวเรือนไทย” ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มีราว 16 ล้านล้านบาท หรือเทียบกับ “จีดีพีไทย” ที่ 17 ล้านล้านบาท

“ถ้าบอกว่า ปัญหาหนี้เหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหา ก็คงไม่ใช่ เพราะหากดูทั้งขนาดของตัวเลข และขนาดของคนที่เดือดร้อนวันนี้มีจำนวนมหาศาล”

หากกลับมาดูข้อมูลของเครดิตบูโร ที่อาการน่าห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “สินเชื่อบ้าน”​ ที่ทั้งหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ สินเชื่อบ้าน ที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว มีทั้งสิ้น 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% หนี้ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90วันหรือ SM มีอีก 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 31.1% รวมทั้งสองกลุ่มนี้ ทั้งหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระจากสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 3.58 แสนล้านบาท สะท้อนคุณภาพที่แย่ลงต่อเนื่อง

หากดูการปรับโครงสร้างหนี้ของสินเชื่อบ้าน พบว่า เป็นสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนโควิด ช่วงโควิด และหลังโควิด ที่วันนี้มีอีกจำนวนมากถึง 2.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 20.2% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ดอกเบี้ย” ที่เพิ่มขึ้น คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ ปัญหาในสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้ภาระครัวเรือนในการผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น เมื่อดอกเบี้ยขยับเพิ่มขึ้น 0.25% แต่ค่างวดที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้การผ่อนชำระเกิดอาการตะกุกตะกักมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันมาตรฐานที่มีอยู่ไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถใช้กับทุกกลุ่มลูกหนี้ แต่เหมือน ไม้บรรทัดอันเดียว แต่ใช้วัดกับทุกกลุ่ม

เช่น หากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% สำหรับคนที่มีรายได้ 2 แสนล้านบาท อาจมีความสามารถในการผ่อนชำระได้ แต่หากเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย มีรายได้เพียง 2 หมื่นบาท กลุ่มนี้อาจไม่สบาย ต้องเผชิญภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาก 

ดังนั้น “พิษ” ของดอกเบี้ย ที่สาดเข้าไป ถือเป็นเครื่องมือ ที่มีผลค่อนข้างมากสำหรับลูกหนี้