‘กิริฎา- ภูมิธรรม’ แนะธุรกิจปรับตัว รับเมกะเทรนด์-ระเบียบโลกใหม่

‘กิริฎา- ภูมิธรรม’ แนะธุรกิจปรับตัว รับเมกะเทรนด์-ระเบียบโลกใหม่

“ทีดีอาร์ไอ” แนะ 4 ทางรอดประเทศไทย รับมือความผันผวนโลก หาโอกาสจากภูมิรัฐศาสตร์ ดิจิทัลเทคโนโลยี สังคมสีเขียว สังคมสูงวัย แนะรัฐเก็บกระสุนรองรับวิกฤติรอบใหม่ “ภูมิธรรม” แนะปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกติการะเบียบการค้าโลกใหม่

ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ล้วนสร้างผลกระทบ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากกับทุกประเทศทั่วโลก ทั้งการทำธุรกิจ การลงทุน ชีวิตการเป็นอยู่ ที่มีผลกระทบทั้งในทิศทางที่ดี และเชิงลบมากขึ้น

ล่าสุด PostToday จัดสัมมนา PostToday x TDRI Economic Drive 2024 “ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567” เพื่อให้เห็นมุมมองเศรษฐกิจ การปรับตัวและโอกาสของภาคธุรกิจไทย เพื่อรอดพ้นจากวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภายใต้หลายปัจจัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกสร้างความท้าทายต่อการทำธุรกิจขึ้น แต่มองว่ายังมีโอกาสสำหรับธุรกิจในบนเวทีโลก แม้ไทยเป็นประเทศเล็ก สูงวัยและกำลังซื้อในประเทศไม่มาก แต่ไทยฉวยโอกาสจากตลาดโลกได้ ทั้งเป็นซัพพลายเชน ซัพพลายเออร์ของสินค้าและบริการสำหรับตลาดโลก
ทั้งนี้หากดูโอกาสของไทยเชื่อว่ามีหลายด้านทั้งโอกาสภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ เมกะเทรนด์ ดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ล้วนสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจไทย ดังนี้

1.เมกะเทรนด์ ภูมิรัฐศาสตร์ ที่นำมาสู่ความเสี่ยงมากขึ้น ให้เกิดทั้งสงครามระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้า การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดังนั้น ในช่วงซัพพลายเชนโลกกำลังปรับเปลี่ยน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตการลงทุนอย่างมหาศาลในรอบ 50 ปี และความตึงเครียดเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์จะไม่หายไป ดังนั้น เป็นโอกาสของธุรกิจไทย ประเทศไทย ในการปรับตัวเพื่อดึงการลงทุน

“จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไฮเทค เช่น อีวี อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งมีโอกาสย้ายเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะทิศทางทางการลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

สำหรับการลงทุนจากต่างชาติที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2566 คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นชิ้นส่วนหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า แท็บเล็ต มือถือ ส่วนอันดับ 2 เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอีวี ยานยนต์ แบตเตอรี่

ซึ่งแสดงว่าธุรกิจใหม่กำลังมาลงทุนในไทยมากขึ้นรวมถึงไบโอเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไบโอชีวภาพ ทั้งอาหาร ผงโปรตีน วิตามิน ที่ประเทศไทยมีฐานของการเกษตร เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีได้ ดังนั้นโอกาสของเรามาแล้ว ท่ามกลางวิกฤติการเมืองโลกนี้ ดังนั้นเราต้องตั้งรับมันให้ได้ ที่เป็นเมกะเทรนด์ ที่จะเป็นนิวบิซิเนสสำหรับธุรกิจไทย

2.เมกะเทรนด์สินค้าที่เกี่ยวกับ Low carbon การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การไปสู่สังคมโลว์คาร์บอนจึงเป็นการสร้างโอกาสสำหรับนิวบิซิเนสมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องพลังงานใหม่ๆ พลังงานสะอาดใหม่ๆการเก็บกักพลังงาน หรือเกี่ยวกับแบตเตอรี่ เหล่านี้จะเป็นธุรกิจใหม่ๆที่จะเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ที่มองว่ายังเติบโตต่อเนื่องใน 10ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ Sustainable Aviation ธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับเครื่องบิน ที่ไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เช่น เครื่องบินไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงน้ำมันเติมเครื่องบินที่ผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือสินค้าเกษตร ซึ่งไทยมีความได้เปรียบเพราะว่าเรามีฐานการเกษตรค่อนข้างมากจึงเป็นอีกโอกาสสำหรับประเทศไทยเช่นเดียวกัน
แนะรุกเมกะเทรนด์“เอไอ-ดิจิทัล”

3.เมกะเทรนด์ดิจิทัลเทคโนโลยีและเอไอ ที่เป็นตัวดึงดูดการลงทุนใหม่ โดยไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มี 5G สะท้อนว่าการที่ไทยมีดิจิทัลเทคโนโลยีหรือ ดิจิทัลคอนเนคทิวิตี้ที่ค่อนข้างแรงในประเทศไทย เป็นตัวที่ทำให้เกิดอีคอมเมิร์ซใหม่มากขึ้น รวมถึงการสร้างอีโคซิสเท็มที่เกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เทคโนโลยี 5G รวมถึงคลาวด์เซอร์วิสและดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ไทยใช้โอกาสจากดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น

“เอไอที่กำลังบูมมาก คือ เมดิคอลแอนด์ เฮลท์แคร์ เพื่อช่วยให้บริการกับผู้ป่วย ถ้ดมาคือ ดาต้าเมเนจเมนท์เคล้าท์ ฟินเทค หรือในธุรกิจรีเทล ค้าส่งค้าปลีก ที่มีการใช้เอไอเยอะมากขึ้น สอดคล้องโลกที่มีการลงทุนด้านเอไอเยอะมาก เพื่อใช้วิเคราะห์ ในการให้บริการที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น เทคโนโลยีเอไอเหล่นี้ จะช่วยต่อยอดพัฒนาธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ๆได้มากขึ้น”

เสนอลุยเมกะเทรนด์สังคมสูงวัย

4.เมกะเทรนด์สังคมสูงวัย ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เป็น1 ใน 5 ของประชากรไทยอายุเกิน 60 ปีแล้ว และอีก 7ปี แล้วนะคะแล 1 ใน 5 ของประชากรไทยจะมีอายุเกิน 65ปี แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาส เพราะสังคมที่สูงวัยมากขึ้น มีต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่าง จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ หากดูประเทศในโลก ที่อายุเกิน 45ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไทย ดังนั้นเราอาจจะพึ่งพาเฉพาะในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องออกไปนอกประเทศด้วย ที่มีประชากรสูงวัยค่อนข้างมาก

ดังนั้นเป็นโอกาส ที่จะปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยทั่วโลกได้มากขึ้น ทั้งอาหาร การรักษาพยาบาล บ้านต่างๆ ที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เหมาะกับสังคมสูงวัยมากขึ้น ให้เป็นสมาร์ตโฮม เหล่านี้ก็เป็นโอกาสมากขึ้นสำหรับธุรกิจไทย

รวมถึงไฟแนนเชียลโปรดักต์ Reverse Mortgage ที่จะเข้ามาตอบโจทย์สูงวัยมากขึ้น เพราะผู้สูงวัย มีสินทรัพย์ แต่ไม่มีเงินสด ดังนั้นเหล่านี้จะเป็นผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มใช้ หรือการเปิดรับแรงงานใหม่ๆในอาเซียน เพื่อช่วยเสริมนิวบิซิเนสใหม่ๆให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน

“ทั้งหมดนี้คือ เมกะเทรนด์ที่มีดีมานด์ และเราพอมีความสามารถ ที่จะซัพพลายดีมานด์พวกนี้ได้ อีกตัวที่พูดกันเยอะ คือซอฟต์พาวเวอร์ แต่ประเทศไทยเรามีมากกว่าซอฟต์พาวเวอร์ เรามี Creative industries หรืออุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พวกนี้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน หากเราได้รับการพัฒนา เหล่านี้จะกลายเป็นนิวบิสเน็ตของเราด้วย ที่จะไปตอบโจทย์เมกะเทรนด์ต่างๆได้”

แนะรัฐบาลกำหนดนโยบายให้ชัด

สำหรับการปรับตัวสู่เมกะเทรนด์ในโลก เริ่มเห็นการปรับมากขึ้น แต่ในส่วนของภาครัฐอาจต้องวางจุดยืนของไทยให้ดี เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามามากขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอน

โดยเฉพาะด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลควรจะเก็บกระสุนเอาไว้ เพื่อที่จะช่วย ถ้ามีวิกฤติขึ้นมาในอนาคต เช่นหากวิกฤติที่ยืดยาวจากสงคราม ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปสู่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนนั้น รัฐบาลต้องมีเงิน เพื่อมาช่วยธุรกิจ และพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้ คือสิ่งที่อยากฝากภาครัฐไว้

พาณิชย์”แนะรับกติกาการค้าใหม่

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา PostToday Thailand Economic Drive 2024 “ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567” ว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างให้เกิดกฎระเบียบใหม่ ดังนั้นทุกประเทศถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนตาม โดยเฉพาะการค้าสินค้าต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวที่ 1.8% ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% และคาดว่าปี 2567 จะขยายตัว2.8%

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามใกล้ชิด

ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2567 ขยายตัว 2.4% ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องโดยปี 2565ขยายตัว 3.0% และปี 2566 ขยายตัว2.6%และการเติบโตเฉลี่ยปี 2563-2567เป็นช่วงที่ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี คาดว่าขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.2%

ดังนั้นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น รวมทั้งจีนมีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส ความขัดแย้งในทะเลแดง และการแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีน

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของงานวันนี้ ที่ทำให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงเอลนีโญมีสาเหตุจากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
รวมทั้งประเด็นสำคัญในปัจจุบันอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งทั่วโลกมุ่งสู่ความยั่งยืนที่จะกลายเป็นกติกาสากลที่ช่วยโลกบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเห็นได้ชัดเจนเมื่อเดือน ก.ค.2566 องค์การสหประชาชาติ (UN )เตือนว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว” แต่ “ยุคโลกเดือดได้เริ่มขึ้นแล้ว” ทำให้โลกมีเป้าหมายสูงสุดที่Net Zeroภายในปี 2593

รัฐบาลเดินหน้า“เศรษฐกิจที่ยั่งยืน”

นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับไทยได้ตั้งเป้าให้ไทยดำเนินงานด้าน SDGs เป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น ภาคเกษตรและพลังงานซึ่งเป็นแต้มต่อกว่าประเทศคู่แข่งในการดึงดูดการลงทุนระดับโลกโดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งการปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ส่งเสริมการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือน”
รวมทั้งหลังจากนี้ ระเบียบโลกใหม่ จะถูกนำมาบังคับใช้เพิ่มขึ้นในทุกปีแล้วแต่สินค้า และเพื่อให้เราก้าวสู่โลกใหม่ได้ สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนความคิดใหม่ เข้าใจ และก้าวทัน รวมทั้งต้องกล้าคิดกล้าเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เร็ว เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ และแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน"