ทำไมอินเดียยังไม่ใช่ ‘The New China’ แม้เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังดิ่งเหว ?

ทำไมอินเดียยังไม่ใช่ ‘The New China’ แม้เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังดิ่งเหว ?

เปิดข้อถกเถียงของบรรดานักวิชาการทำไมเศรษฐกิจอินเดียยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่จีนเป็นมหาอำนาจอันดับสองทางเศรษฐกิจโลกได้ แม้เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังตกต่ำจากภาคอสังหาริมทรัพย์

Key Points

  • ผู้นำระดับสูงขององค์กรและประเทศจำนวนมากเป็นชาวอินเดีย
  • เศรษฐกิจอินเดียเคยขยายตัวมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกในช่วง 1980 ก่อนหายไปจากจอเรดาร์ในสองทศวรรษให้หลัง
  • นักวิชาการเห็นต่างอินเดียจะสามารถขึ้นมาแทนที่จีนได้หรือไม่

ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของอัลฟาเบต สัตยา นาเดลลาซีอีโอของไมโครซอฟท์ นีล โมฮาน ซีอีโอของยูทูป อาร์เจย์ แบงก้า อดีตซีอีโอมาสเตอร์การ์ดและปัจจุบันเป็นประธานธนาคารโลก กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิปดีสหรัฐ และรีชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ

ทั้งหมดนี้คือชื่อของผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูงในองค์กรระดับโลกที่มีเชื้อสายอินเดียโดยกำเนิด แล้วถ้าผู้อ่านเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ตจะยิ่งเห็นชัดเจนว่ายังมีผู้บริหารชาวอินเดียในบริษัทและองค์กรระดับโลกอีกหลายร้อยชีวิต

จากข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้นักวิชาการ นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ และสำนักข่าวจำนวนมากตั้งคำถามว่า ในอนาคต “อินเดีย” จะกลายไปเป็นประเทศมหาอำนาจเชิงเศรษฐกิจอันดับต้นของโลกได้หรือไม่

ทำไมอินเดียยังไม่ใช่ ‘The New China’ แม้เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังดิ่งเหว ?

ข้อสันนิษฐานข้างต้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝั่งที่เห็นด้วยว่าเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มที่จะกลายไปเป็นมหาอำนาจเชิงเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลกหรืออาจแทนที่เศรษฐกิจจีนที่กำลังประสบกับปัญหามากมาย ทั้งความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้รัฐบาลท้องถิ่น และความไม่โปร่งใสของข้อมูล และฝั่งที่มองว่าอินเดียมีโอกาสจะเป็นมหาอำนาจอันดับต้นของโลกแต่ก็ยังไม่สามารถแซงหน้าจีนได้

สำหรับข้อถกเถียงแรกมีข้อมูลสนับสนุนจำนวนหนึ่งอย่างแรกคือองค์การสหประชาชาติ ( The United Nation) รายงานเมื่อช่วงส.ค.ปีที่แล้วที่ว่า อินเดียโค่นจีนขึ้นแทนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1,428 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรจีนอยู่ที่ 1,425 ล้านคน 

เปรียบเทียบประชากรจีนและอินเดีย ประชากรอินเดียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางประชากรจีนที่อยู่ในเทรนด์ขาลง เนื่องจากเมื่อกลางเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าโดยอ้างอิงสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนว่า ในปี 2566 ประชากรจีนปรับตัวลดลงเป็นประวัติการณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ท่ามกลางยอดทารกแรกเกิดที่ลดน้อยลง

 

อินเดียไม่เพียงเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ประชากรชาวอินเดียกว่าครึ่งประเทศมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นวัยแรงงานที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

อัตราการเกิดของประเทศจีน

ด้าน องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 6 ปีข้างหน้าประชากรวัยชาวอินเดียวัย 15-64 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยทำงานจะครองสัดส่วนมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั่วโลก นั้นหมายความว่าอินเดียจะยิ่งเป็นประเทศที่เนื้อหอมจากแรงงานถูก

รวมทั้งเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดหุ้นอินเดียเพิ่มขึ้นแซงหน้ามูลค่าตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดที่เคยได้ชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือทางด้านมาตรฐานการบัญชีอันดับต้นๆ ของโลก

เปรียบเทียบมาร์เก็ตเเคปตลาดหุ้นชั้นนำ

โดยมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นอินเดียอยู่ที่ 4.33 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ที่ 4.29 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และยังเป็นตลาดหุ้นที่ทำกำไรแปดปีติดต่อกัน

จากข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมดทำให้บรรดานักวิเคราะห์และนักสังเกตุการณ์ในฝั่งที่เห็นด้วยว่าเศรษกิจอินเดียมีแนวโน้มเติบโตแซงหน้าจีนหนึ่งในนั้นคือ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์แถวหน้าเมืองไทยมั่นใจขึ้นไปอีก ซึ่งหากพิจารณาขนาดของเศรษฐกิจอินเดียเทียบกับทั้งโลกก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าแนวโน้มดังกล่าวมีโอกาสเป็นจริง

เปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจโลก

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 1980 อินเดียเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก แต่หลังจากนั้นราวสองทศวรรษเศรษฐกิจอินเดียก็หายออกไปจากจอเรดาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจของหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนเติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดดและเริ่มแซงหน้าอินเดียในปี 1992

เศรษฐกิจจีนเริ่มขยายตัวด้วยความเร่งมากขึ้นในช่วงปี 2009-2010 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลจีนออกโครงการกู้ยืมเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาประเทศจนทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โตระดับ 10%

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนที่กำลัง “รับกรรม” กับหนี้ที่กู้มาเพื่อพัฒนาประเทศในตอนนั้น รวมทั้งการเติบโตของประเทศอื่นที่ถดถอยจากสงครามและการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเริ่มกลับมาผงาดอีกครั้ง

ในปี 2565 อินเดีย “แซงหน้า” มหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และแคนาดา ขึ้นแท่นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก โดยนักองค์การสหประชาชาติยังเชื่อว่าภายในปี 2573 อินเดียจะกลายไปเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงจีนและสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงต่อไปไม่ใช่ข้อถกเถียงที่ว่าอินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับต้นๆ ของโลกได้หรือไม่ เพราะนักวิชาการและองค์กรข้ามชาติจำนวนมากมองเป็นทิศทางเดียวกันว่ามีความเป็นไปได้สูง

ทว่าข้อถกเถียงต่อมาคือเศรษฐกิจอินเดียจะก้าวข้ามจีนจนกลายไปเป็นมหาอำนาจอันดับสองของโลกได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทรมองว่า “เป็นไปได้ยาก” 

"ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนใหญ่กว่าอินเดียประมาณ 5 เท่า กล่าวคือโดยเฉลี่ยประชาชนคนจีนหนึ่งคนสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ 13,000 ดอลลาร์ ส่วนคนอินเดียหนึ่งคนสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ 2,500 ดอลลาร์"

นอกจากนี้อินเดียยังมีความท้าทายเชิงโครงสร้างจำนวนมากอย่างการศึกษา ระบบสาธารณสุข และที่สำคัญความไม่เท่าเทียมทางเพศ ระหว่างชายและหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการทำงาน

ทำไมอินเดียยังไม่ใช่ ‘The New China’ แม้เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังดิ่งเหว ?

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานอินเดียเผยว่า ในปี 2565 มีผู้หญิงวัยแรงงานเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ออกไปทำงานนอกบ้านซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 10% เมื่อเทียบกับปี 2561 และถึงแม้ว่าจะเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นทว่าก็ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ในเกณฑ์รายได้ปานกลางถึง 50%

โดยจากแบบสำรวจความคิดเห็นสุภาพสตรีชาวอินเดียซึ่งจัดทำโดยกระทรวงแรงงานพบว่า สตรีชาวอินเดียกว่า 45% ไม่สามารถออกไปทำงานได้เพราะต้องรับผิดชอบทำงานบ้าน

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบยอดจากส่งออกปัจจุบันจีนยังคงเป็น “ผู้ผลิตของโลก” (The Manufacturer of the World) โดยในปี 2565 ยอดการส่งออกของจีนอยู่อันดับหนึ่งด้วยมูลค่า 3.594 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยสหรัฐ 2.064 ล้านล้านดอลลาร์ เยอรมนี 1.655 ล้านล้านดอลลาร์ เนเธอแลนด์ส 9.66 แสนล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่น 7.47 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดการส่งออกของอินเดียยังต่ำมากที่ 4.53 แสนล้านดอลลาร์

อ้างอิง

Bloomberg 

The Wall Street Journal

 The Economic Times