สถานการณ์หนี้บัตรเครดิตไทยน่ากังวลแค่ไหน? เมื่อตัวเลขหนี้โตก้าวกระโดด สวนกระแสเศรษฐกิจ

สถานการณ์หนี้บัตรเครดิตไทยน่ากังวลแค่ไหน?  เมื่อตัวเลขหนี้โตก้าวกระโดด สวนกระแสเศรษฐกิจ

สินเชื่อบัตรเครดิตจะเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ผู้บริโภค แต่ตราบใดที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประเด็นการเร่งตัวของหนี้คงค้างจากบัตรเครดิตก็ดูน่ากังวลอยู่ไม่น้อย

คงต้องยอมรับว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว เห็นได้ชัดจากการที่ผู้คนใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งวิกฤตโควิด-19 ระลอกล่าสุดมีส่วนทำให้ผู้บริโภคปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เร็วขึ้นกว่าเดิม 2-4 ปี อีกทั้งเทรนด์การแข่งขันของธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ดุเดือดขึ้น อย่างเช่นการใช้แพลตฟอร์มซื้อขายให้เป็นเหมือนช่องทางไลฟ์สไตล์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค การอำนวยความสะดวกผ่านช่องทางชำระเงินในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟีเจอร์การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) ที่ทำให้ผู้คนสามารถจับจ่ายได้แค่ปลายนิ้ว 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสิ้นปี 2562 ที่ราว 913 ล้านรายการ มาอยู่ที่ 3.21 พันล้านรายการในเดือนพฤศจิกายน 2566 ด้านปริมาณการชำระเงินจากธุรกรรมในประเทศด้วยบัตรเครดิตผ่านเครื่องรูดบัตร (EDC) และผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% สอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายในประเทศผ่านบัตรเครดิตทั้งระบบในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 สูงถึง 1.85 แสนล้านบาท หรือขยายตัวถึง 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตก็ขยายตัวถึง 15.5%YoY

อย่างไรก็ดี ปริมาณการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตที่เติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยอดคงค้างหนี้จากบัตรเครดิตเติบโตเร็วกว่าหนี้ครัวเรือนประเภทอื่นอย่างมีนัย โดยหนี้คงค้างภาคครัวเรือนที่มาจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคิดเป็น 8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 10-15% ติดต่อกันตลอด 6 ไตรมาสล่าสุด (ข้อมูล ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 10.3%YoY) ซึ่งเติบโตเร็วกว่าหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่ขยายตัวเฉลี่ย 3-4% โดยเฉพาะหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และหนี้เช่าซื้อรถที่มีทิศทางซบเซาลงตามสภาพเศรษฐกิจและการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน 

นอกจากนี้ คุณภาพหนี้บัตรเครดิตก็มีแนวโน้มย่ำแย่ลง ทั้งที่มาจากธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) โดยสัดส่วนยอดค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหรือ NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 2.6% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.2% เช่นเดียวกับ NPLs หนี้บัตรเครดิตของ Non-Banks ที่เร่งขึ้นจาก 2.4% ของสินเชื่อรวม เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.2% ซึ่งยังไม่นับรวมผลที่จะเกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเป็น 8% ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี 2567 หลังจากคงไว้ที่ 5% ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การคุมคุณภาพหนี้บัตรเครดิตเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร เนื่องจากสินเชื่อบัตรเครดิตถือเป็นช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทแรก ๆ ของกลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน รวมถึงผู้ที่ยังมีรายได้ไม่สูงนัก ทำให้คนไทยเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยข้อมูลจากธนาคารโลก ชี้ว่าผู้ที่มีอายุเกิน 15 ปีที่มีบัตรเครดิตในไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี จาก 9.8% ในปี 2560 หรือ 5.5 ล้านคน เป็น 22.6% ในปี 2564 หรือราว ๆ 12.3 ล้านคน (ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ 8.1% และมาเลเซีย 7.9%) ขณะที่จำนวนบัญชีบัตรเครดิตที่มียอดใช้จ่ายทั้งหมดก็สูงถึง 26.2 ล้านใบ อีกนัยหนึ่ง ผู้ถือบัตรเครดิตในไทยมีอายุเฉลี่ยน้อยลง อีกทั้งยังถือบัตรเครดิตเฉลี่ยคนละ 2-3 ใบ ทำให้วงเงินบัตรเครดิตที่ผู้ถือได้รับรวมกันอาจสูงถึง 5-10 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือนเลยทีเดียว 

ในขณะเดียวกัน ทัศนคติต่อการเป็นหนี้บัตรเครดิต รวมถึงแรงจูงใจที่กระตุ้นให้เกิดการใช้บัตรเครดิต เช่น แคมเปญผ่อน 0% ปลอดภาระดอกเบี้ย การสะสมแต้มเพื่อแลกรับส่วนลด สิทธิประโยชน์จากร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ อาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งก็จะทำให้ลูกหนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “เป็นหนี้มากเกินไป” (Over Indebtedness) ซึ่งหนี้มากเกินไปในที่นี้ก็อาจหมายถึงรูดใช้จ่ายจนเต็มวงเงินหรือเกินกำลังที่จะจ่ายคืนได้ จนทำให้หลายคนตกอยู่ในสภาพที่ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ แบบทบต้นทบดอก ซึ่งที่สำคัญหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลที่มาจากยอดเบิกเงินสดผ่านบัตรเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและมีระยะเวลาการผ่อนสั้น จึงมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ทำให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนต่องวดสูง ส่งผลให้ลูกหนี้มีความเสี่ยงที่จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าสินเชื่อบัตรเครดิตจะเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ผู้บริโภค แต่ตราบใดที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประเด็นการเร่งตัวของหนี้คงค้างจากบัตรเครดิตก็ดูน่ากังวลอยู่ไม่น้อย ฉะนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน หรือ Financial Literacy ไปพร้อม ๆ กับการสร้างนิสัยทางการเงินอย่างถูกวิธีในภาวะที่มีสิ่งเร้ารอบด้านเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการและวางแผนการเงินได้ดีขึ้น