‘สมาคมเช่าซื้อฯ ’รับยอดรถยึดพุ่ง ดัน NPL ’โตแตะ ‘สองหลัก’

‘สมาคมเช่าซื้อฯ ’รับยอดรถยึดพุ่ง  ดัน NPL ’โตแตะ ‘สองหลัก’

“สมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯ” เผยยอดยึดรถจักรยานยนต์เข้าลานประมูลเพิ่ม 7 พันคนต่อรอบ ลุ้นไตรมาส 3 ปี 67 หวังเศรษฐกิจไทยฟื้น KKP รับรถโดนยึดยังสูง สร้างผลขาดทุน MTC ยอดหนี้เสียเช่าซื้อแตะ 10%  “กรุงไทย คาร์เร้นท์” ชี้เหตุคนฐานราก รายได้หด ลุ้นรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ

Key points : 

  • สมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯ เผยยอดยึดรถจักรยานยนต์เข้าลานประมูลเพิ่ม 7 พันคนต่อรอบ ลุ้นไตรมาส 3 ปี 67 หวังเศรษฐกิจไทยฟื้น
  • KKP รับรถโดนยึดยังสูง สร้างผลขาดทุน
  • MTC ยอมรับตัวเลขหนี้เสียพอร์ตเช่าซื้อแตะ 10% 
  • "กรุงไทย คาร์เร้นท์” ชี้ยอดยึดรถช่วงต้นปีนี้ยังเพิ่ม เหตุ “กลุ่มฐานราก” รายได้หด ลุ้นรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ พร้อมปรับธุรกิจเช่ารถตามเกณฑ์ไฟแนนซ์
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ประกอบกับยังไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐ ทำให้ความสามารถชำระหนี้ของประชาชนระดับฐานรากลดลง เห็นได้จากยอดยึดรถจักรยานยนต์เข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้น หลายฝ่ายมีความหวังว่า หากรัฐบาลมีการลงทุนโครงการภาครัฐตามแผนที่วางไว้มากขึ้นสถานการณ์น่าจะกลับมาดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2567

นางสาวบุปผา ไชยพิณ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบมียอดยึดรถจักรยานยนต์เข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้นราว 7,000 คันต่อรอบ ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว หรือยังไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐ ทำให้ตอนนี้กลุ่มรากหญ้าในท้องถิ่นถูกกระทบทั้งรายได้ และความสามารถชำระหนี้ลดลง

โดยคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะกลับมาดีขึ้นหากในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2567 รัฐบาลเดินหน้าการลงทุนโครงการภาครัฐชัดเจน นอกเหนือจากการสนับสนุนภาคเกษตร และท่องเที่ยวเติบโตแล้ว คาดว่า ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีการจ้างงานของกำลังแรงงานในโครงการลงทุนภาครัฐ และเอกชนเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น ยอดยึดรถจักรยานยนต์มีโอกาสชะลอตัวลง ทำให้ทั้งปีนี้ยอดยึดรถจักรยานยนต์น่าจะทรงตัวจากปีก่อนได้

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินและกลุ่มไฟแนนซ์ ยังปล่อยสินเชื่อรัดกุม เนื่องจากสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปีก่อนยังสูงเป็น “ตัวเลขสองหลัก” แม้คุมการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ยอดอนุมัติลดลงจากเดิม 70% มาอยู่ที่ 50-60% ยอดสินเชื่อลดลง เมื่อเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ กำลังซื้อยังไม่กลับมา รายได้ลดลง ไม่มีเงินชำระหนี้ หนี้เสียเพิ่มขึ้น รถจักรยานยนต์ก็ถูกยึดเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น ราคารถประมูลก็ลดลง เป็นผลกระทบวงกว้างทั้งระบบ

“สถานการณ์ดังกล่าวจริงๆ แล้ว ตลาดค่อนข้างกังวล ขึ้นอยู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญมากกว่าเรื่องดอกเบี้ย ทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราคงต้องช่วยกันประคับประคองไปให้ถึงไตรมาส 3 ที่ภาครัฐน่าจะมีการเบิกจ่ายงบ มีการลงทุน และกระตุ้นกำลังซื้อเข้ามาในระบบ ทำให้คนฐานรากมีรายได้มีเงินในกระเป๋ามาใช้จ่าย และชำระหนี้เพิ่มขึ้น หากไม่มีปัจจัยภายนอกเช่นความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังฟื้นตัวได้ดีกว่าก่อน”

 ‘เคเคพี’ รับสต็อกรถยึดสูง สร้างผลขาดทุน

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารมีสต็อกรถยึดอยู่ที่ 4,600 คันในช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา แม้ลดลงหากเทียบกับระดับสูงสุดที่เคยอยู่ระดับ 6,000 คัน แต่ภายใต้รถยึดที่อยู่ระดับสูง บวกกับราคารถมือสองลดลงอย่างมาก ซึ่งสร้างผลขาดทุนต่อธนาคาร

ดังนั้น เป้าหมายในการบริหารพอร์ตรถยนต์ของธนาคาร หนึ่งคือ การลดสต็อกรถยึดให้ลดลง โดยคาดจะลดเหลือ 3.5 พันคันในไตรมาสแรกปีนี้ จากสัญญาณการค้างชำระหนี้ที่เริ่มกลับมาดีขึ้น บวกกับการเข้าไปดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาอย่างใกล้ชิด 

บวกกับปัจจุบันธนาคาร มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมถึงมีการเพิ่มระมัดระวัง โดยการเพิ่มเงินดาวน์รถเพิ่มขึ้น (LTV) เพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และเพื่อทำให้พอร์ตสินเชื่อรถของธนาคารมีคุณภาพมากขึ้น และลดสต็อกที่จะเข้ามาสมทบใหม่ๆ ได้

 “เมืองไทย แคปปิตอล” ชี้พอร์ตเช่าซื้อ‘เอ็นพีแอล10% 

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC เปิดเผยว่า หากดูในภาพรวมของธุรกิจเช่าซื้อ ตลาดมีการเติบโตระดับสูงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนั้นตลาดเกิดภาวะขาดแคลนสินค้า อย่างไมโครชิปขาดแคลน ซึ่งตอนนั้นราคารถยนต์ถูกอัปราคาขึ้นไปจากเดิมมาก แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายราคารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือราคาต่ำกว่าปกติด้วยซ้ำ ทำให้คนปล่อยให้รถโดนยึดดีกว่าด้วยเพราะราคารถใหม่ถูกกว่าเดิม  

ทั้งนี้ MTC มีพอร์ตเช่าซื้อสัดส่วนน้อยมากแค่ระดับ 5% ของพอร์ตรายได้รวมทั้งหมด แต่ยอมรับว่าปัจจุบันพอร์ตเช่าซื้อมีตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ระดับ 10% ซึ่งภาพรวมของอุตสาหกรรมเช่าซื้ออยู่ที่ประมาณ 12 % ดังนั้น กลยุทธ์ปีนี้สำหรับพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อ บริษัทยอมรับต้องใช้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากช่วงโควิด-19 ที่มีการปิดประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเป็นการฟื้นตัวเฉพาะกลุ่มมากกว่า 

“ยอมรับปีนี้ถือว่าธุรกิจเช่าซื้อมีความท้าทายมาก ด้วยตัวเลขรถโดนยึดที่สูง ขณะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังถูกกดดันจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นอีก” 

 “กรุงไทย คาร์เร้นท์” รับยอดยึดจักรยานยนต์เพิ่ม

นายพิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มภาพรวมยอดยึดรถจักรยานยนต์ปี 2567 โดยในช่วงต้นปีนี้ยอดการยึดยังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยต่อเนื่องจากปีก่อน ปัจจัยหลักยังคงมาจากภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังกลับไปเท่าก่อนปีโควิดไม่ได้ , ภาวะการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และภาวะดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น กดดันรายได้กลุ่มลูกค้าฐานรากยังไม่กลับมาต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19     

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าช่วงปลายปีนี้ ยอดการยึดรถคงจะชะลอตัวลงบ้าง คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 น่าจะฟื้นตัวได้แล้ว และปีที่ผ่านมา ตลาดรถยึดก็รับรู้ผลลบมาสมควรแล้ว อีกทั้งธนาคารและไฟแนนซ์เพิ่มมาตรการรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

ดังนั้น ทั้งปีนี้ยอดการยึดน่าจะยังทรงตัวจากปีก่อน และหากไตรมาส 3 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ มีความสบายใจมากขึ้น อาจเห็นการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอประเมินตลาดช่วงนั้นอีกครั้ง   

“คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังโตกว่าปีก่อน เชื่อภาครัฐจะพยายามหามาตรการกระตุ้นการเติบโตอย่างเต็มที่ แต่จะโตได้มากหรือน้อย ยังต้องรอประเมินหากสภาพเศรษฐกิจโลกยังเหมือนปัจจุบัน ไม่มีสงครามหรือความขัดแย้งยืดเยื้อ เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น ปริมาณการยึดลดจะชะลอตัวลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

ขณะที่ ทางด้านแผนธุรกิจของบริษัทในปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 3-5% จากปี 2566 ที่คาดเติบโตดีจากปี 2565 อยู่ที่ 2,280.20 ล้านบาท และยังมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง จากกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ปรับรูปแบบการขายตามบริษัทไฟแนนซ์ ที่มีการปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงด้านเครดิต และเหมาะสมความสามารถชำระหนี้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลทั้งระบบ พร้อมกับเน้นทำตลาดเชิงรุกให้ครอบคลุมตลาด และเข้าหากลุ่มลูกค้ามากขึ้น

สำหรับการเติบโตของพอร์ตรถยนต์ในปีนี้ ยังคงทรงตัวจากรถครบสัญญากลับเข้ามา ส่วนรายได้ปีนี้จะมาจากรถยนต์มือสองเป็นหลัก ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) บริษัทมีโอกาสเพิ่มเข้ามามากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.บริการให้เช่ารถยนต์ 2.ซื้อ-ขายรถยนต์มือสอง สำหรับพอร์ตรถยนต์ปัจจุบันมีมากกว่า 9,000 คัน มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 1,200 ราย ขณะที่ศูนย์บริการมีมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ 

“ภาพรวมธุรกิจให้เช่ารถปี 2566 หดตัวเล็กน้อย จากกลุ่มขนส่ง และกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ซึ่งเรามีลูกค้ากลุ่มนี้ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ใช้รถค่อนข้างหนัก เป็นลูกค้าที่ธุรกิจดีขึ้นหลังภาวะโควิด-19 และการต่ออายุการเช่ารถของธุรกิจองค์กรยังเติบโตดี โดยเฉพาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ต้องการลดต้นทุนทางการเงิน ระยะเวลาเช่ารถเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี ส่วนลูกค้าบุคคลเช่ารถในสัดส่วนน้อยมาก เพราะกลุ่มนี้ยังมองรถเป็นสินทรัพย์ทำให้เช่ารถน้อยมาก และเช่ารายวันเป็นหลัก นานสุดไม่เกิน 2-3 วัน เป็นการเช่าเพื่อทดลองขับใช้ในการตัดสินใจซื้อรถ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่มีบทบาทในท้องตลาดมากขึ้น”

ตลาดรถยนต์ฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวม ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมคือ โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม เช่น การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และการจ้างงานนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนเร่งการใช้จ่าย การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตามคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อการส่งออก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยโดยคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ปีนี้จะอยู่ในระดับ 800,000 คัน เพิ่มขึ้น 3%

นายศุภกร รัตนวราหะ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ยังไม่เห็นปัจจัยบวกมากนัก ภาพรวมยังคล้ายกับไตรมาสสุดท้าย 2566  อย่างไรก็ตาม การหารือกับธนาคารหลายแห่ง พบว่าประเมินสถานการณ์รถยนต์ดีกว่าประมาณ 810,000 - 820,000 คัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์