“ไม่มีแฟน ไม่มีลูก ไม่แต่งงาน”

“ไม่มีแฟน ไม่มีลูก ไม่แต่งงาน”

พ่อแม่หลายคนบ่นให้ผมฟังว่า ลูกชายหรือลูกสาวไม่คิดจะแต่งงาน และลูกที่แต่งงานแล้ว ก็ไม่คิดจะมีลูก ซึ่งคนรุ่นใหม่ของเราที่คิดแบบนี้ ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆครับ

ผมก็เลยไปดูแนวโน้มที่ประเทศอื่นๆ ว่าเป็นเช่นใด เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ผมได้อ่านรายงานล่าสุดที่ออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2567 นี้เองว่า ในบรรดาหนุ่มสาวโสดที่นั่น วัย 20-40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่น่าจะมีคู่ครองแล้ว แต่กลับมี มากถึง 34.1% ที่ตอบว่า “ไม่เคยมีแฟนเลย” 

แต่คนที่ไม่เคยมีแฟนเลย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสแต่งงานนะครับ เพราะเวลากามเทพแผลงศร มักไม่ดูวัยหรือเหตุผลใดๆซะด้วย  ก็เลยต้องถามหนุ่มสาวญี่ปุ่น ที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งคนที่มีแฟนหรือยังไม่มีแฟน ว่า ”ในอนาคตเขาหรือเธอ จะแต่งงานไหม” 

ปรากฏว่า 1 ใน 4 คน หรือ 25.6% ตอบว่า “ไม่เคยคิดจะแต่งงาน” 

ทำให้ภาพยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นใด ส่วนเหตุผลที่ไม่คิดจะแต่งงานนั้น ชายหนุ่มที่ปฏิเสธการแต่งงาน มีถึง 42.5% ที่ให้เหตุผลว่า ”มันจะเป็นภาระทางการเงิน“ ในขณะที่ หญิงสาวที่ไม่คิดจะแต่งงาน มีมากถึง 40.5% ที่ตอบว่า ”มันจะทำให้เสียอิสรภาพในการใช้ชีวิต“ 

 

สรุปว่าคนเกิดก็น้อยลง คนไม่เคยมีแฟนก็มากขึ้น และคนที่ไม่คิดจะแต่งงานก็มีถึง 1 ใน 4 คน แล้วอย่างนี้ อนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะเป็นเช่นใดหนอ เป็นภาพที่ท้าทาย ต่อนโยบายของรัฐอย่างแน่นอน

จากญี่ปุ่น ผมมองไปที่เกาหลี และพบว่าเมื่อ 15 ปีก่อน สตรีเกาหลีวัย 20-30 ปี มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 52.9% ที่มองว่า “การแต่งงานเป็นสิ่งที่ดี” แต่ขณะนี้คนที่ตอบอย่างนี้ เหลือเพียง 27.5% เท่านั้นเอง ส่วนทำไมจึงไม่เห็นว่าการแต่งงานเป็นสิ่งที่ดีนั้น ไม่ปรากฏในรายงานครับ แต่นี่ก็เป็นเหตุผลที่ยืนยันว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่คิดที่จะแต่งงาน

แต่ ชายและหญิงเกาหลี ที่อายุเกิน 60 ปี กลับมองว่า “การแต่งงานเป็นสิ่งที่ดี” และมีจำนวนมากถึง 74.9% และ 68.7% ตามลำดับ แสดงว่าโลกทัศน์และวิธีคิดของคนต่างวัยในเรื่องนี้ แตกต่างกันมากจริงๆ

ผมไปดูที่จีนบ้าง ประเทศที่เคยใช้นโยบายห้ามมีลูกเกิน 1 คน และควบคุมแบบนี้อย่างเคร่งครัด มานานหลายทศวรรษแล้ว แต่กลับ เปลี่ยนนโยบายให้มีลูกได้ 2 คน เมื่อปี  2016 และในปี 2021 ก็เพิ่มให้เป็น 3 คน ถือว่าเป็นการเปลี่ยนนโยบายรวดเร็วมาก รวมทั้งยังส่งเสริมด้วยการให้สิทธิพิเศษต่างๆอีกด้วย เรามาดูซิว่าได้ผลเพียงใด

คำตอบสั้นๆคือไม่ได้ผลครับ อัตราการมีบุตรของผู้หญิงจีนหนึ่งคน ในปี 2020 อยู่ที่ 1.28 คน แล้วลงลงเหลือ 1.08 คนในปี 2022 และปัจจุบันเหลือเพียง 1.0 คน เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าจีนจะรักษาระดับประชากรไว้ได้ ตัวเลขนี้จะต้องเป็น 2.1 คน

พอไปดูเรื่องการแต่งงานที่จีน ก็พบว่าสัดส่วน “จำนวนคู่แต่งงาน ต่อประชากร 1,000 คน” ของจีนนั้น เคยต่ำสุดเพียง 6.1 คู่ต่อประชากร 1,000 คน เมื่อปี 2002 แล้วกลับสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี จนถึง 9.9 คู่ เมื่อปี  2013 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ที่ดี

แต่ที่ไหนได้  10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขคู่แต่งงานของจีนต่อประชากร 1,000 คน กลับลดลงทุกปี จาก 9.9 คู่ เหลือ 9 คู่ 8, 7, 6 และ 5 คู่ ตามลำดับ จนเมื่อปี 2022 เหลือเพียง 4.8 คู่เท่านั้นเอง สรุปว่าจีนก็พบปัญหาเดียวกับหลายๆประเทศ 

ส่วนของไทยเรานั้น เท่าที่ผมหาสถิติมาได้ พบว่า ปี 2016-2018 มีการจดทะเบียนสมรส ใกล้เคียงกัน คือปีละประมาณ 300,000 คู่ แต่ปี 2019-2021 กลับลดลงมาต่อเนื่อง ต่ำสุดที่ 240,000 คู่ แล้วก็ตีกลับเป็น 300,000 คู่อีกครั้งเมื่อปี 2022

แปลว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา อัตราการแต่งงานของไทยเรา ยังทรงๆ แต่อาจมีแนวโน้มทรุดลงก็เป็นได้ เพราะคนรุ่นใหม่ของเรา คงมีแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปคล้ายกับประเทศอื่นๆ

ข้อมูลทั้งหมด ทำให้เห็นว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และน่าเป็นห่วงยิ่ง เมื่อคนวัยทำงานในวันนี้ ต้องแบกภาระทางการเงิน เพื่อดูแลคนวัยเบบี้บูมและรุ่นอื่นๆที่ตามมา และอีก 20-30 ปี ข้างหน้า เมื่อคนทำงานวันนี้เข้าสู่วัยเกษียณ และคนรุ่นต่อไปที่จะเข้ามารับภาระต่อ ก็ลดน้อยลงไปอีก 

จะเป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับรัฐบาลในวันข้างหน้า แต่เรารอช้าไม่ได้เพราะต้องทำอะไรตั้งแต่รัฐบาลวันนี้ครับ 

ส่วนค่านิยมที่เปลี่ยนไปในเรื่องการแต่งงานนั้น ผมว่าเราลองดูกันอีกสักปี เพราะนี่ก็จะถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อยู่แล้ว 

ไปลุ้นกันวันนั้น ที่เขตบางรัก ดีไหมครับ