ส่องเสน่ห์ ‘เศรษฐกิจฮ่องกง’ ในวันที่ ‘จีน’ ย่ำแย่ยังน่าลงทุนไหม

ส่องเสน่ห์ ‘เศรษฐกิจฮ่องกง’  ในวันที่ ‘จีน’ ย่ำแย่ยังน่าลงทุนไหม

“ลูแอนด์ ลิม” ซีอีโอธนาคารเอชเอสบีซีฮ่องกงรับที่ผ่านฮ่องกงได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการตกต่ำของเศรษฐกิจจีน แต่เชื่อเศรษฐกิจจีน-ฮ่องกงมีแนวโน้มดีขึ้นจากมาตรการของภาครัฐ ด้าน “จอร์โจ กัมบา” ซีอีโอธนาคารเอชเอสบีซีไทย ชี้ พร้อมร่วมมือกับธปท.ปล่อยกู้สกุลเงินหยวนดอกเบี้ยต่ำกว่าดอลลาร์ เสริมการลงทุนไทย-จีน

Key Points

  • เศรษฐกิจจีนและเกาะฮ่องกงมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือบริษัทกว่าครึ่งในดัชนีฮั่งเส็งเป็นสัญชาติจีน
  • ฮ่องกงได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากหลายปัจจัยทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น, สงครามการค้า, ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์, แรงกดดันจากเศรษฐกิจจีน
  • ลูแอนด์ ลิม เชื่อภาครัฐจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
  • จอร์โจ กัมบา เผย ฮ่องกงเตรียมปล่อยสินเชื่อสกุลเงินหยวนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมในดอลลาร์ 

เศรษฐกิจจีนและเกาะฮ่องกงมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในปัจจัยชี้ชัดคือ ณ สิ้นเดือนพ.ย.​2566 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮั่งเส็ง (Hang Seng Index) ของฮ่องกงกว่าครึ่งคือบริษัทสัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็นเทนเซนต์ (Tencent) อาลีบาบา (Alibaba) บีวายดี (BYD) หรือบรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่จากจีน ดังนั้นหากเกิดความปั่นป่วนในเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจฮ่องกงและตลาดหุ้นฮั่งเส็งก็เป็นอันต้องได้รับผลกระทบตามไป

ส่องเสน่ห์ ‘เศรษฐกิจฮ่องกง’  ในวันที่ ‘จีน’ ย่ำแย่ยังน่าลงทุนไหม

ประเด็นที่เข้ามากดดันเศรษฐกิจจีนมากที่สุดในปัจุบันก็หนีไม่พ้นความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แบกภาระหนี้มหาศาลและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงจนกระทั่งล่าสุด (29 ม.ค.) ศาลฮ่องกงพิพากษาให้บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande Group) อดีตยักษ์ใหญ่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมาร์เก็ตแคปมากถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีนปิดกิจการและขายสินทรัพย์เพื่อใช้หนี้ทั้งหมดกว่า 2.39 ล้านล้านหยวน หรือ 11.92 ล้านล้านบาท

ส่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน เพียงพอหรือไม่ ?

จากปัญหาทั้งหมดทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากตั้งคำถามว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ค่อยๆ ออกมานั้นจะได้ผลจริงหรือ

นโยบายดังกล่าวประกอบด้วยการปรับลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) ลงเป็นครั้งที่สามอีก 0.5% ไปอยู่ที่ 10% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น การตั้งกองทุนเข้าพยุงหุ้นกว่า 2 ล้านล้านหยวน หรือ 9.97 ล้านล้านบาท และการสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ขายทิ้งสกุลเงินดอลลาร์เพื่อพยุงค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าทะลุ 7 ดอลลาร์ต่อหยวน

อย่างไรก็ตาม ลูแอนด์ ลิม (Luanne Lim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารเฮชเอสบีซีฮ่องกง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจว่า เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอนและมาตรการของรัฐบาลจีนที่ประกาศออกมานั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพราะในอนาคตจะมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาเพิ่มเติมแน่นนอน

จอร์โจ กัมบาและลูแอนด์ ลิม (จากซ้ายไปขวา)

“ยอมรับว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจฮ่องกงได้รับแรงกดดันหลายทาง ทั้งการปิดประเทศจากโควิด-19, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น, สงครามการค้า, ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีน แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีก”

ทั้งนี้ ลิมกล่าวเสริมว่า ยังมั่นใจความแข็งแกร่งของฮ่องกงในฐานะ “ศูนย์กลางการเงินระดับโลก” ที่เป็นประตูของนักลงทุนต่างชาติสู่ประเทศจีน ที่สำคัญฮ่องกงยังเป็นที่ตั้งของธุรกิจฟินเทคกว่า 800 แห่งทั่วโลก และล่าสุดรัฐบาลได้เพิ่มพื้นที่อาคารสำนักงานมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติกว่า 20 แห่งที่จองพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีข่าวออกมาจำนวนมากถึงความตกต่ำของเศรษฐกิจจีน ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นจากเครื่องมือทางการเงินอย่าง Local Government Financing Vehicles (LGFVs) แต่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปีที่แล้วก็เติบโตได้ถึง 5.2% ซึ่งแทบจะไม่มีเศรษฐกิจของประเทศไหนที่โตได้ในอัตราส่วนดังกล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องการดึงดูดนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติเข้ามาในฮ่องกง สำนักข่าวไฟแนนซ์เชียลไทม์ส (Financial Times) รายงานบทวิเคราะห์ “How China’s slowdown is deepening Hong Kong’s ‘existential crisis” ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ว่า

ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนและฮ่องกงมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำนวนบริษัทและนักลงทุนต่างชาติในฮ่องกงเริ่มปรับตัวลดน้อยลงเมื่อเทียบกับบริษัทและนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยจำนวนบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาเปิดสาขาในฮ่องกงปรับตัวลดลงเหลือ1,411 แห่งเมื่อปีที่แล้วขณะที่เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 1,541 แห่ง

ด้านรายงานของออสเตรเลีย ไฟแนนเชียล รีวิว (Australia Financial Review) เผยว่า ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย (National Australia Bank) ยุติการดำเนินงานในฮ่องกงเมื่อส.ค.ปีที่แล้วส่วนอีกหนึ่งธนาคารจากออสเตรเลียอย่างเวสต์แพก (Westpac) จะยุติการดำเนินงานในฮ่องกงหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ในปี 2568

รวมทั้งจำนวนธนาคารที่ได้รับใบรับรอง (Licensed Banks) ทั้งหมดในฮ่องกงปรับตัวลดลงเหลือ 155 แห่งจากเดิมในปี 2562 อยู่ที่ 164 แห่ง ขณะที่จำนวนธนาคารที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลางปักกิ่ง (Chinese-controlled Banks) ก็ปรับตัวสูงขึ้นสวนทางจากธนาคารสัญชาติยุโรปที่หดตัว

สำหรับประเด็นนี้ ลิงให้สัมภาณ์ว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาฮ่องกงประสบปัญหาที่เข้ามากระทบภาคเศรษฐกิจจำนวนมากหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานทางการพยายามปรับปรุงสถานการณ์ทั้งหมดให้ดีขึ้น หนึ่งในนั้นคือการที่หน่วยงานของทางการพยายามไปเจรจาธุรกิจกับทั้ง ประเทศไทย ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

ส่องเสน่ห์ ‘เศรษฐกิจฮ่องกง’  ในวันที่ ‘จีน’ ย่ำแย่ยังน่าลงทุนไหม

ฮ่องกงในฐานะ ‘สนามทดลอง’ ของจีนในการยกระดับเงินหยวนและ FDIs

ลิมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของไทยและฮ่องกงว่า หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐเพิ่งประกาศออกมาคือการยกระดับเงินหยวนสู่ระดับนานาชาติ (Internationalization) คือการอนุญาติให้ฮ่องกงในฐานะผู้ครอบครองซัพพลายของสกุลเงินหยวนที่มากที่สุดรองจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ 6 แสนล้านหยวน (3 ล้านล้านบาท) ออกสินเชื่อให้หลายภาคส่วนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมในสกุลเงินดอลลาร์

“บริษัทและสถาบันของไทยกําลังคิดว่าจะเข้าถึงแหล่งสภาพคล่องได้อย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว [การกู้ยืมในสกุลเงินหยวน] นั้นถูกกว่าการกู้ยืมเป็นดอลลาร์อย่างมาก ”

พร้อมเสริมว่า “บริษัทไทยในพอร์ตของเราจํานวนมากให้ความสําคัญกับการกู้ยืมเป็นเงินหยวนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณซื้อขายแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กับภาคธุรกิจในจีน ในอนาคตการกู้ยืมผ่านสกุลเงินหยวนจะมีความสำคัญอย่างมากและทั้งหมดสามารถทำธุรกรรมได้ในฮ่องกงอย่างง่ายดาย”

ขณะที่จอร์โจ กัมบา (Giorgio Gamba) ซีอีโอ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายออกสินเชื่อในสกุลเงินหยวน 

“แต่ผมบอกได้เลยว่าทั้งสองฝ่ายมีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำงานร่วมกันเพื่อทำให้การค้าขายง่ายขึ้น ลดความซับซ้อนของอัตราแลกเปลี่ยน ลดความซับซ้อนในการชำระเงิน ดังนั้นในอนาคตความร่วมมือในประเด็นนี้จะมากขึ้น”

กัมบาร์ทิ้งท้ายว่า เอชเอสบีซีมีพันธกิจในการดึงดูดนักลงทุนจากจีนและนานาชาติเข้ามาในประเทศไทยและนำนักลงทุนของไทยไปเปิดตลาดในต่างประเทศรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเครือข่ายของธนาคารที่มีมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

ดังนั้นความร่วมมือในการลดความยุ่งยากในอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้นก็นับเป็นหนึ่งความพยายามของทั้งไทยและฮ่องกงในการส่งเสริมการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น

อ้างอิง

Financial Times 

Australia Financial Review