‘เมืองไทยประกันชีวิต’ ดันเบี้ยโต 20% จับโฟกัสประกันคุ้มครองสุขภาพ - โรคร้าย

‘เมืองไทยประกันชีวิต’ ดันเบี้ยโต 20%  จับโฟกัสประกันคุ้มครองสุขภาพ - โรคร้าย

เมืองไทยประกันชีวิต ปรับพอร์ตธุรกิจประกัน มุ่งโฟกัสประกันคุ้มครองชีวิต - สุขภาพ - โรคร้าย รับเทรนด์ผู้ซื้อเปลี่ยน หันซื้อประกันมากขึ้น พร้อมปรับตัวมาตรฐานการเงินใหม่

จากผลพวงของวิกฤติโควิด-19 เป็นต้นมา ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการทำ “ประกัน” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันเพื่อรองรับวัยเกษียณ เพราะเห็นแล้วว่า ความไม่แน่นอนในด้านสุขภาพ และชีวิตมีมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันเติบโตสูงขึ้นอย่างถ้วนหน้า

แม้ปัจจุบันความร้อนแรงในการแข่งขันในธุรกิจประกันลดลง แต่เบี้ยรับยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจประกันมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้า เบี้ยประกัน หรือรูปแบบประกัน

‘เมืองไทยประกันชีวิต’ ดันเบี้ยโต 20%  จับโฟกัสประกันคุ้มครองสุขภาพ - โรคร้าย เช่นเดียวกันกับ “เมืองไทยประกันชีวิต” ที่เริ่มมีการปรับรูปแบบประกัน ปรับสัดส่วนการขายประกันให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น  

สาระ ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ฉายภาพแผนการดำเนินงานของบริษัทปีนี้ว่า บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรายใหม่ เติบโต 20% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเติบโตต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งมาจากหลังโควิดเป็นต้นมา คนหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพ และประกันคุ้มครองชีวิตมากขึ้น ส่วนเบี้ยประกันรับรวม คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม โดยปีก่อนเบี้ยรับรวมเติบโตที่ราว 2% มาอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เบี้ยใหม่เติบโต มาจาก “ประกันโรคร้าย” เป็นเทรนด์ที่ผู้ซื้อให้ความสนใจมากขึ้น โดยคาดจะเห็นการเติบโตปีนี้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่เติบโตสูงถึง 70% 

การหันมามุ่งสู่ พอร์ตประกันชีวิต (Life Portection) ประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรง (Health & Critical illness) จะมีส่วนทำให้สัดส่วนพอร์ตของประกันเหล่านี้เพิ่มขึ้น มาสู่ระดับ 70% จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 60% ส่วนประกันบำนาญ ที่คาดเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากปีก่อนที่เติบโตได้ราว 13% จากการที่ประชาชนหันมาหาหลักประกันในชีวิตหลังเกษียณ และเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะข้างหน้ามากขึ้น

การปรับพอร์ตประกันอาจไม่เพียงพอ การทำให้การเติบโตของธุรกิจเมืองไทยประกันชีวิตมีความยั่งยืนมากขึ้น ยังต้องทำให้รูปแบบประกันให้มีความหลากหลาย เข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่มทุกวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเหมาะกับรายได้ และช่วงอายุด้วยที่จะทำให้เมืองไทยได้รับการตอบรับที่ยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจประกัน มีความท้าทายมากขึ้น ไม่เฉพาะการแข่งขันที่จะร้อนแรงต่อเนื่องในธุรกิจประกัน แต่ยังมาจาก มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่องสัญญาประกันภัย (TFRS 17) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 นี้ด้วย ที่ทำให้บริษัทประกัน ต้องออกแบบประกันให้ “ใช่” มากขึ้น เพื่อลดการบันทึกผลขาดทุนบนมาตรฐานการเงินใหม่

“ก่อนหน้า เบี้ยของธุรกิจประกันลดลง คนจะเข้าใจว่ามาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แต่จริงๆ มาจากโครงสร้างประกันที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่พอร์ตส่วนใหญ่อยู่ที่การขายประกันสะสมทรัพย์ในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่หลังๆ คนให้ความสำคัญมากขึ้น เรื่องประกันชีวิต ประกันสุขภาพ โรคร้าย ทำให้พอร์ตพวกนี้ค่อยๆ เติบโตมากขึ้น แต่ตัวเบี้ยต่ำกว่ามาก หากเทียบกับประกันแบบสะสมทรัพย์ที่มีวงเงินเยอะกว่ามาก จึงทำให้เบี้ยลดลง”

“สาระ” ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนกลยุทธ์ปี 2567 เมืองไทยประกันชีวิต ยังคงให้ความสำคัญ กับการสานต่อ ในการเป็น "คู่คิดด้านการวางแผนชีวิตและสุขภาพที่คุณวางใจ" (Most Trusted Partner in Life & Health Planning) ภายใต้ กลยุทธ์ “Happiness, Your Way เพราะความสุขคือ ทุกอย่าง ความสุขสไตล์คุณคือที่สุดของทุกสิ่ง” ที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในปีนี้ เพื่อความสุข และรอยยิ้มของพนักงานภายใน พาร์ตเนอร์ ลูกค้า และสังคมอย่างยั่งยืน

โดยจะขับเคลื่อนผ่านแนวคิดหลัก ได้แก่ Personal เน้นการสร้างสรรค์พัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความเป็นคุณอย่างแท้จริง และ Life โดยมุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทุกช่วงชีวิตของผู้คนทุกกลุ่ม โดยจะเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้าน ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและสุขภาพเพื่อส่งมอบความคุ้มครองให้กับคุณ และคนรอบข้าง ส่งเสริมการดูแลสุขภาพที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย การรักษาอย่างครอบคลุม และตรงจุด และสิทธิประโยชน์สำหรับทุกๆ ไลฟ์สไตล์

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์