จับตานโยบายการเงินโลก

เศรษฐกิจการลงทุนในช่วงต้นปี 2024 มีทิศทางเปลี่ยนไปจากในช่วงปี 2023 ต้นปีถึงปัจจุบัน ทุกตลาดดูเหมือนจะย่อตัวลง โดยเฉพาะฮ่องกง เกาหลี จีน สิงคโปร์ รวมถึงไทย หรือสหรัฐและยุโรปที่ดูจะผันผวนมากขึ้น

เศรษฐกิจการลงทุนในช่วงต้นปี 2024 ดูเหมือนจะมีทิศทางเปลี่ยนไปจากในช่วงปี 2023 โดยในช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน ทุกตลาดดูเหมือนจะย่อตัวลง โดยเฉพาะฮ่องกง เกาหลี จีน สิงคโปร์ รวมถึงไทย หรือแม้แต่สหรัฐและยุโรปที่ดูจะผันผวนมากขึ้น (จะมีแต่ญี่ปุ่น ที่ยังขยายตัวได้ดี)

สาเหตุหนึ่ง เป็นผลจากตลาดเริ่มปรับความคาดหวังในมุมมองทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน โดยในสหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจดูจะขยายตัวดีเกินคาด ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงได้ยากมากขึ้น โดยยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. ขยายตัว 5.6% ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 2.2% ต่อปี ท่ามกลางการใช้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อขยายตัว 3.4% ต่อปี สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.1% ต่อปี ผลจากราคาพลังงานและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้น ปัญหาด้านการขนส่งในคลองสุเอซทำให้เกิดความกังวลต่อการขนส่งรวมถึงเงินเฟ้อ โดยในฝั่งทะเลแดง การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธฮูตีบนเรือในช่องแคบบับ อัล-มันดาบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางผ่านจากมหาสมุทรอินเดียไปยังคลองสุเอซ ส่งผลให้ผู้ที่เดินทางระหว่างยุโรปและเอเชียบางส่วนต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาแทน ซึ่งจะกินเวลาเพิ่มขึ้นอีกกว่า 9 วัน

ในปัจจุบัน เรือเดินสมุทรที่แล่นเข้าสู่คลองสุเอซมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง จาก 74 ลำต่อวันในปีก่อน เหลือ 45 ลำในปัจจุบัน ขณะที่เรือที่แล่นไปผ่านแหลมกู๊ดโฮปเพิ่มขึ้นจาก 49 ลำเป็น 70 ลำ โดยเรือบรรทุกน้ำมันลดลงกว่า 2 ใน 3 ขณะที่เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ลดลงกว่า 80% ภาพเหล่านี้ทำให้ความกังวลในประเด็นเงินเฟ้อเริ่มกลับมา แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ จะยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ทำให้ผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ธ. กลางสหรัฐ (Fed) ยังคงกังวล โดยล่าสุด ราฟาเอล บอสติกประธาน Fed สาขาแอตแลนต้า ระบุว่าต้องการให้สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลาย ก่อนที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอีก โดยอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาสที่ 3

ภาพดังกล่าวทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอายุ 10 ปีที่เคยอยู่ในระดับต่ำที่ 3.8% ในช่วงปลายปี 2023 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4.1% ในปัจจุบัน บ่งชี้ถึงต้นทุนทางการเงินที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ความน่าจะเป็นในการเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. ลดลงเหลือประมาณ 55% จากประมาณ 70% ในช่วงก่อนหน้า

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ต่อเนื่อง หลังเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเหลือ 2.6% จากจุดสูงสุดที่ 4.3% ในต้นปี 2023 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเหลือ 2.3% จึงไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเจรจาค่าจ้างของสหภาพแรงงานในเดือน มี.ค. ว่าจะเพิ่มค่าจ้างได้มากเพียงใด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของรัฐบาลให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างขึ้น 5% ในปีนี้ แต่เงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องทำให้ความจำเป็นที่ต้องเร่งขึ้นค่าจ้างลดลง 

ประเด็นนโยบายการเงินญี่ปุ่นกลับทิศเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะในช่วงที่ผ่านมา การที่ BOJ ลดดอกเบี้ยจนติดลบ ทำให้มีการกู้ยืมเงินเยนในราคาถูกและหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น (หรือที่เรียกว่า Yen carry trade) ซึ่งหากญี่ปุ่นกลับมาทำนโยบายการเงินตึงตัว อาจเกิดการถอนการลงทุนในประเทศต่าง ๆ กลับไปญี่ปุ่นได้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนทั่วโลกผันผวนได้ ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้ BOJ ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจเป็นบวกต่อการลงทุนได้อีกระยะหนึ่ง

ข้ามฝั่งมายังยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ย โดยประธาน ECB นางคริสตีน ลากาด ระบุว่า ECB อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงเดือน มิ.ย. ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา (จาก 10.1% ในปลายปี 2022 สู่ระดับ 2.9% ในปัจจุบัน) และเศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว สัญญาณดังกล่าวทำให้สำนักวิจัยต่าง ๆ เช่น Bloomberg Economics คาดการณ์ว่า ECB จะลดดอกเบี้ยถึงกว่า 125 bps ขณะที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าจะลดถึง 138 bps โดยเริ่มลดครั้งแรกในเดือน เม.ย. 

ในส่วนของไทย ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายเป็นวงกว้างว่านโยบายดอกเบี้ยตึงตัวหรือไม่ท่ามกลางเงินเฟ้อที่หดตัว โดยในมุมมองของเรา ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจะขึ้นกับเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยเราคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ 2 กรณี โดยในกรณีฐาน เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องในเดือน ม.ค. ก่อนค่อย ๆฟื้นตัวขึ้นหลังจากนั้น ทำให้ทั้งปีเฉลี่ยที่ประมาณ 2.5% ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย แต่ในกรณีต่ำ หากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องอีก 4 เดือน (ซึ่งเป็นไปได้เนื่องจากปัจจัยฐาน นโยบายรัฐ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว) ขณะที่ ธ. กลางโลกเริ่มลดดอกเบี้ย ธปท. ก็สามารถลดดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น โดยอาจลดในเดือน มิ.ย และ ส.ค.

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยในเชิงนโยบายการเงินต้องจับตาเป็นอย่างยิ่ง โดยเดือนที่สำคัญที่สุดคือเดือน มี.ค. โดยหาก Fed (ประชุม 20 มี.ค.) ส่งสัญญาณอาจลดดอกเบี้ยก่อนหน้า จะทำให้ทั้ง ECB และ BOJ รวมถึง ธปท. อาจเริ่มส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบายในช่วงดังกล่าว แต่หาก Fed ยังส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ย สถานการณ์ Status Quo หรือคงเดิมก็จะดำเนินอยู่ต่อเนื่อง 

ทั้งหมด ทำให้เห็นได้ว่า ความผันผวนทางการเงินในระยะต่อไปจะมีมากขึ้น นักลงทุนจึงควรลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยควรลงทุนสะสมแบบ DCA (Dollar Cost Average) เนื่องจากเป็นจังหวะที่ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเราแนะนำ BBL BDMS BEM CPALL PTT และ SCC ซึ่งเป็นหุ้น SET 100 ซึ่งเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม และมี ESG Rating ระดับ AAA/AA, และ Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี และผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/Innovest- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm - ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher #InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ *ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้