‘ไทยเครดิต‘ หุ้นเนื้อหอม 6 กองทุนไทย-ต่างชาติ สนใจซื้อ

‘ไทยเครดิต‘ หุ้นเนื้อหอม 6 กองทุนไทย-ต่างชาติ สนใจซื้อ

“ธนาคารไทยเครดิต” เสน่ห์แรงพบ “6 กองทุนไทย-ต่างชาติ” สนใจจองซื้อหุ้นแล้วสัดส่วน 40% ของไอพีโอ กำหนดช่วงที่ 28-29 บาท จ่อเคาะราคาขาย 29 ม.ค. นี้ พร้อมเปิดขายรายย่อย 23-26 ม.ค. เดินหน้าเทรด 9 ก.พ. 67

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT หุ้นแบงก์น้องใหม่ไอพีโอในรอบกว่า 10 ปี กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เสนอขายไม่เกิน 347.02 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.2% มูลค่าที่ตราไว้ 5 บาทต่อหุ้น ซึ่งเตรียมเปิดให้จองซื้อสำหรับนักลงทุนรายย่อย 23-26 ม.ค.67 เปิดให้สถาบันจองซื้อ 31 ม.ค.-2 ก.พ. 67 

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ขณะนี้ ธนาคารฯ มีนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนธนาคารฯ รูปแบบผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors รวม 6 ราย มูลค่ารวมไม่เกิน 140.35 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย คิดเป็น 40% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด

สะท้อนความเชื่อมั่น ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบันจองซื้อในประเทศ ไม่เกิน 23.64 ล้านหุ้น คือ 1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)2. บลจ.ทาลิส จำกัด และ 3. บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้ง เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัที่จองซื้อในต่างประเทศไม่เกิน 116.705 ล้านหุ้น คือ 1.บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) 2.ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และ 3.E.SUN Commercial Bank, Ltd.

“แม้ว่าภาวะตลาดฯในช่วงนี้จะผันผวน แต่ก็ไม่บ่อยนักที่จะมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อขายในตลาด และจากที่มีนักลงทุนสถาบันอยากเข้ามาลงทุนในสัดส่วนถึง 40% สะท้อนถึงความเชื่อมั่น ดังนั้น แม้ตลาดจะผันผวน แต่ก็ยังเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะได้เข้าลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์ได้ในรอบหลายๆปี”

ขณะเดียวกันการคำนวณราคา IPO ของหุ้น รอบนี้ ประเมินจาก P/E เฉลี่ยที่ 2 เท่าถือว่า เป็นราคาเหมาะสมอยู่ระดับปานกลาง คือ ราคาต่ำกว่า นอนแบงก์ มี P/E เฉลี่ยที่ 2.3-3 เท่าและสูงกว่า ธนาคารพาณิชย์ เล็กน้อย เฉลี่ยที่ 1.8 เท่า ซึ่งเราเป็นธนาคารที่มีความมั่นคงเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่สร้าการเติบโตคล้ายกับนอนแบงก์ ธนาคารยังคงวางเป้าหมาย3-5 ปีข้างหน้าเติบโตเท่าตัว

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CREDIT กล่าวว่า ได้พูดคุยกับสองกองทุนใหญ่ระดับโลกอย่าง IFC และ ADB มานานมาก ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีเงื่อนไขการลงทุนในบริษัทที่มีธรรมภิบาล ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งธนาคารได้ปรับเพิ่มธรรมาภิบาลของธุรกิจตอบโจทย์ดังกล่าว จึงได้รับความสนใจจากสถาบันต่างชาติรายใหญ่