ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ม.ค.67 ‘แข็งค่า‘ จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ม.ค.67 ‘แข็งค่า‘ จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ม.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินดอลลาร์ อ่อนค่า ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ คาดผลประกอบการหุ้นเทคสหรัฐฯ ออกมาสดใสได้ตามคาด มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.45-35.75 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.67 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาทต่อดอลลาร์  

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.58-35.68 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนให้บรรดาดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ม.ค.67 ‘แข็งค่า‘ จากเงินดอลลาร์อ่อนค่า

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ผันผวนอ่อนค่าลงทะลุระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ในช่วงก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันนี้ ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาด (รวมถึงเรา) ต่างคาดว่า BOJ จะยังไม่มีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ และจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงมาตรการ Yield Curve Control ไว้ตามเดิม ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงและหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 149-149.50 เยนต่อดอลลาร์ ตามที่เราประเมินไว้ ในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) จากผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติมได้ หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) เริ่มมีแนวโน้มย่อตัวลงเข้าใกล้แนวรับ 23.80 บาทต่อ 100 เยน นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุด ผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินส่วนใหญ่ต่างออกมาน่าผิดหวัง ทำให้เรากังวลว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อหุ้นไทยจนกว่าจะเห็นแนวโน้มผลประกอบการโดยรวมที่ดีขึ้นชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ แต่เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดในโซนแนวต้าน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ 

สอดคล้องกับมุมมองเราในต้นสัปดาห์ที่ประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ หากตลาดต่างเลิกเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก และเริ่มกลับไปเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ล่าสุด หรือ ไม่ต่างจาก Dot Plot มากนัก 

ส่วนโซนแนวรับเงินบาทในช่วงที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น จะยังคงเป็นโซน 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้ 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของบรรดาผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาจออกมาสดใสหรือเติบโตได้ตามคาด หลังจากในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินที่ออกมาผสมผสาน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.22% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 4,850.43 จุด

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.77% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะ ASML +3.1% ที่ปรับตัวขึ้นได้ หลังนักวิเคราะห์ในตลาดปรับคำแนะนำการลงทุนและเป้าราคาใหม่ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางตลาดหุ้นยุโรปในระยะสั้นได้ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 57% ในการ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ณ การประชุมเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี แกว่งตัวใกล้ระดับ 4.10% ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่แข็งแกร่งกว่าคาด ก็จะยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึก ตามที่เคยประเมินไว้ และการปรับมุมมองดังกล่าวจะหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideways ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าทะลุระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงเช้าวันอังคารนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.1-103.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ โดยรวม ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังคงแกว่งตัวในโซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการปรับลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงย่อตัว ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงมาตรการ Yield Curve Control ไว้ตามเดิม อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า มุมมองของ BOJ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือ BOJ มีการส่งสัญญาณต่อโอกาสในการปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ เพราะหาก BOJ ยังไม่มีการส่งสัญญาณดังกล่าว หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ BOJ ก็อาจกดดันให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ ทดสอบโซน 149-149.50 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

นอกเหนือจากผลการประชุม BOJ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Netflix ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้พอสมควร