“วุ่นวาย ที่ฮาร์วาร์ด”

“วุ่นวาย ที่ฮาร์วาร์ด”

ใครจะคิดว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะเกิดสงครามที่กาซ่า?

ฮามาส บุกโจมตี  อิสราเอล เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 ทำให้อิสราเอลเสียหายอย่างหนักเพราะไม่ทันได้ตั้งตัว รวมทั้งแรงงานไทยที่นั่น ก็พลอยเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกันไปด้วย แต่หลังจากนั้น อิสราเอลก็ตอบโต้อย่างรุนแรง ทุกวันนี้มีรายงานว่า ที่ฉนวนกาซ่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว เกือบ 25,000 คน

ทันทีที่เกิดสงครามขึ้น ปรากฎว่ามีความเคลื่อนไหว นอกสนามรบ นั่นคือในรั้วมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา เกิดความแตกต่างทางความคิด ความรุนแรงทางวาจา และพฤติกรรมที่น่าห่วง 

เช่น องค์กรนักศึกษาที่ฮาร์วาร์ด 31 องค์กร รวมตัวกันออกแถลงการณ์โจมตีอิสราเอลที่ “ทำลายล้าง” ชาวปาเลสไตน์ และบางกลุ่มก็ออกมาปลุกกระแสความเกลียดชังชาวยิว (Antisemiticism) ขู่ทำร้ายนักศึกษาที่มีเชื้อสายยิว เรื่อยไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว (Genocide) 

เมื่อสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ไม่น่าไว้วางใจ คณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนฯ จึงได้เชิญ อธิการบดีของ Harvard, MIT, และ Pennsylvania มาให้ข้อมูลว่า มีนโยบายอย่างไร ในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยภายใต้ภาวะเช่นนี้ และจะรักษาความปลอดภัยให้ชาวยิวในรั้วมหาวิทยาลัย ได้อย่างไร

 

สมาชิกสภาฯ ได้ตั้งคำถาม กดดันอธิการบดีทั้งสามคนอย่างหนัก และหนึ่งในคำถามนั้น ถามว่า “การปลุกระดมภายในมหาวิทยาลัย ให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ถือว่าเป็นการผิด ‘หลักปฎิบัติ’ ( Code of Conduct ) ของมหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่” 

อธิการบดีทุกคนตอบว่า “มันขึ้นอยู่กับบริบท” (It depends on the context) ซึ่งคำตอบนี้ จุดกระแสความไม่พอใจให้รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งในรัฐสภาและนอกสภาทันที 

ส.ส. หญิง Elise Stefanik ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอเคยทวีตว่า การที่ฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล และทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่า 700 คน ก็นับเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากเช่นกัน เธอได้กล่าวกับอธิการบดีด้วยเสียงดังว่า “มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริบท! คุณตอบแบบนี้ไม่ได้ คุณต้องตอบว่า มันผิดหลักปฎิบัติหรือไม่ ….และคำตอบก็คือมันผิด!

หลังจากวันนั้น อธิการบดีทั้งสามคนก็ถูกกดดันต่อเนื่อง ว่าไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการจัดการกับเรื่องนี้อย่างดีพอ เป็นการกดดันทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จนอธิการบดีของ Pennsylvania ต้องลาออกจากตำแหน่ง และ อธิการบดีฮาร์วาร์ด ก็เป็นเป้าหมายรายต่อไป

สถานการณ์บานปลายจนกระทั่ง มีผู้ขุดประวัติของอธิการบดีฮาร์วาร์ดมาเผยแพร่ ว่าผลงานทางวิชาการของเธอในอดีต มีบางอย่างที่เข้าข่ายลอกผลงานของผู้อื่น 

นักธุรกิจดังอย่าง Elon Musk และ CEO ของ Pfizer รวมทั้งศิษย์เก่าหลายคน และผู้บริจาคเงินรายใหญ่หลายราย ได้ออกมาเรียกร้องและกดดันให้อธิการบดีฮาร์วาร์ดลาออก ซึ่งที่ฮาร์วาร์ดนั้น รายได้ของมหาวิทยาลัยครึ่งหนึ่ง มาจากเงินบริจาค ดังนั้นเสียงจากบุคคลเหล่านี้จึงมีน้ำหนักมาก

Claudine   Gay เป็นอธิการบดีหญิงผิวดำคนแรก ในประวัติศาสตร์ของฮาร์วาร์ด เธอจบปริญญาตรีจาก Princeton ปริญญาโทจาก Stanford และปริญญาเอกจาก Harvard ซึ่งต้องถือว่าเป็นประวัติการศึกษาที่ยอดเยี่ยมมาก

แม้เธอจะถูกกดดัน แต่คณะกรรมการสภาของฮาร์วาร์ด ก็ยังให้การสนับสนุน และออกแถลงการณ์ว่าเธอเป็นผู้บริหารที่มีคุณภาพ ส่วนข้อบกพร่องด้านผลงานวิชาการที่ผ่านมา เธอก็ยอมรับและได้แก้ไขบางส่วนไปแล้ว และมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นความบกพร่องในเรื่องเล็กๆน้อยๆเท่านั้น สามารถยอมรับได้

แต่เมื่อมีกระแสกดดันต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน เธอจึงไม่สามารถที่จะอยู่ในตำแหน่งได้ และได้ยื่นใบลาออกไปแล้ว เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมานี้ กลายเป็นอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด ในประวัติศาสตร์ของฮาร์วาร์ด คือเพียง 6 เดือนเท่านั้นเอง

หลังจากเธอลาออก สภามหาวิทยาลัยก็ได้แถลงข่าว ยืนยันว่ารู้สึกเสียใจที่ต้องสูญเสียเธอไป และปัจจุบันยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน เช่นผู้ว่าการหญิงแห่งรัฐ Massachusetts ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เสียดายที่เธอต้องลาออกไป 

สรุปก็คือมีความเห็นทั้งสองด้าน ทั้งสนับสนุนและต่อต้าน ทั้งสองฝ่ายหนักแน่นไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่ก็จบลงด้วยเธอต้องพ้นจากตำแหน่ง

เรื่องราวที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงของการเป็นผู้บริหารในยุคปัจจุบัน ซึ่งตัวแปรทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เชื้อชาติ ฯลฯ ต่างมีความโยงใยกันไปหมด เป็นยุคที่เรียกกันว่า VUCA ซึ่งบางทีปัจจัยเหล่านี้ ก็ถูกลากโยงใยเข้ามาอย่างไม่คาดฝัน และมีผลกระทบกับชีวิตของเรา อย่างคาดไม่ถึง

เรื่องของอธิการบดี Claudine Gay นี้ ถ้าไม่เกิดสงคราม ฮามาส-อิสราเอล ขึ้น ก็คงไม่มีอะไรลามปามมาถึงฮาร์วาร์ด จนกระทบกับตำแหน่งของเธอ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ที่เธอต้องตกเป็นเป้าของเหตุการณ์ครั้งนี้ และต้องลาออกไปในที่สุด

ทำให้รู้สึกกังวลใจแทนข้าราชการหลายคน ที่ถูกกระแสกดดันจากสังคมเหมือนกัน เกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่ในหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะมีสื่อและผู้คนในสังคมจับตามอง และตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง เกือบทุกวัน

แต่ไม่ว่าจะตอบคำถามอะไร ก็ตอบได้ไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำ ตอบอะไรออกมาคนก็ไม่ค่อยจะเชื่อ และในอนาคต ก็ไม่มีใครรู้ว่าข้าราชการเหล่านี้ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ 

เราคงต้องติดตามกันว่า อีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า เรื่องนี้จะพัฒนาต่อไปเป็นเช่นใด

ขอให้ท่านเหล่านี้ โชคดีนะครับ