แบงก์ชาติ พบแบงก์ เรียกเก็บ ‘ค่าฟี’ ลูกค้าเกิน 3.3 ล้านบัญชี ยอดรวม 1.5พันล้าน

แบงก์ชาติ พบแบงก์ เรียกเก็บ ‘ค่าฟี’ ลูกค้าเกิน 3.3 ล้านบัญชี ยอดรวม 1.5พันล้าน

แบงก์ชาติชี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หากเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 ย้ำ ไม่สะท้อนถึงการทำกำไรทั้งหมด เหตุแบงก์มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมาก พบปี 66 แบงก์เก็บค่าฟีเกินจากลูกค้ากว่า 3.3ล้านบัญชี คิดเป็นจำนวนเงินรวมกว่า 1.5พันล้านบาท

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนของ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบันถือว่าปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 9เดือน ของปี 2566 ที่ NIM เฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 2.95%  ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าก่อนโควิด-19 

แต่ NIM ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนกำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีอีกหลายค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ถูกรวมใน NIM ดังกล่าว ทั้งภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ระบบไอที  เป็นต้น ดังนั้นจะดูเพียงจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ 

 อย่างไรก็ตาม พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา กำไรของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมหายไปค่อนข้างมาก

โดยปี 2566 ที่ผ่านมา หากดูการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ถูกต้องหรือเกินความเป็นจริง ที่แบงก์มีการส่งคืนเงินแก่ลูกค้า ทั้งสิ้น กว่า 3.3 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า หลังจากมีการตั้งคำถาม ถึง อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบัน ว่าสูงเกินไปหรือไม่ ส่วนนี้ธปท.ได้มีการหารือ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อยู่ตลอดเวลา แต่หลังจากนี้คงต้องมีการหารือกันมากขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.มีการระมัดระวังในการส่งผ่านค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ การส่งผ่านไปสู่ดอกเบี้ยสำหรับรายย่อย หรือ MRR ที่มีการให้ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านน้อยกว่า ดอกเบี้ยนโบบาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

โดยหากดูการส่งผ่านดอกเบี้ย MRR พบว่า มีการส่งผ่านเพียง 49% เท่านั้น หรือราว 1% หากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับขึ้นถึง 2% ซึ่งการส่งผ่านยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่นอินโดนีเซีย