'วิชาชีพอิสระ' เคลียร์ให้ชัด! ต้องยื่นภาษีมาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่

'วิชาชีพอิสระ' เคลียร์ให้ชัด! ต้องยื่นภาษีมาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่

ปัญหาคลาสสิกในการ "ยื่นภาษี" ขณะที่ "มาตรา 40(1)" สำหรับพนักงานประจำ "มาตรา 40(8)" สำหรับอาชีพค้าขายทั่วไป ขายของออนไลน์ แล้ว "วิชาชีพอิสระ" ต้องยื่นแบบไหนกันแน่ หลายคนยื่นผิดเวลายื่นภาษีผิดมาตรา ส่งผลให้การคำนวณภาษีผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้อง

เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพในนามบุคคลธรรมดามีอยู่จำนวนมาก และแน่นอนว่าจะต้องมีหน้าที่เสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา เพราะเหตุนี้จึงทำให้ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ จำเป็นต้องทราบว่าตนเองต้องยื่นภาษีมาตราไหน เพื่อให้สามารถคำนวณภาษีได้ถูกต้อง

โดยหลักๆ ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปคือ มาตรา 40(1) สำหรับพนักงานประจำ มาตรา 40(8) สำหรับอาชีพค้าขายทั่วไป ขายของออนไลน์

แต่ที่มักสร้างความสับสนให้กับผู้ยื่นภาษีคือ "วิชาชีพอิสระ" เวลายื่นภาษีมักจะยื่นผิดมาตรา ส่งผลให้การคำนวณภาษีผิดพลาด อาจเสียภาษีน้อยหรือสูงกว่าความเป็นจริง

หลายรายมองว่าวิชาชีพอิสระควรจัดอยู่มาตรา 40(2) แต่หลายรายยื่นเป็นมาตรา 40(6) ดังนั้น วันนี้เราจะมาเคลียร์ปัญหานี้กันว่า วิชาชีพอิสระจัดอยู่มาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่ ไปติดตาม...

\'วิชาชีพอิสระ\' เคลียร์ให้ชัด! ต้องยื่นภาษีมาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่

  • วิชาชีพอิสระประกอบด้วยอะไรบ้าง

วิชาชีพอิสระ ประกอบด้วย 6 อาชีพหลัก ซึ่งจะต้องเป็นอาชีพที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง และถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งได้แก่

1.แพทย์และพยาบาลประกอบโรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์

2.ประณีตศิลป์ เช่น งานวาด งานหล่อ งานปั้น

3.สถาปนิก เช่น งานออกแบบ

4.วิศวกร เช่น งานออกแบบ

5.นักบัญชี เช่น ทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี โดยบริษัทจำนวนมาก ต้องให้นักบัญชีช่วยทำบัญชี ตรวจสอบบัญชีให้ เพื่อรายละเอียดที่ถูกต้องก่อนยื่นส่งสรรพากร

6.ทนายความ เช่น ที่ปรึกษา ว่าความ
หรือวิชาชีพอิสระอื่นๆ ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

\'วิชาชีพอิสระ\' เคลียร์ให้ชัด! ต้องยื่นภาษีมาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่

  • วิชาชีพอิสระ เสียภาษีมาตรา 40(2) ใช่หรือไม่

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือเงินได้มาตรา 40(2) คือรายได้รูปแบบรับจ้างทั่วไป รับทำงานให้เป็นครั้งคราวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเจ้านายลูกน้อง เช่น ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ตัวแทนประกันภัย นายหน้าหาพื้นที่เช่า นายหน้าหางาน นายหน้านำเรือเข้าท่า ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การขนส่ง วิทยากร การรับรีวิวสินค้า ออกแบบกราฟิก งานเขียนและแปลภาษา ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร MC ผู้ประกาศข่าว พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงอิสระ ผู้กำกับการแสดง ซึ่งผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีที่วิชาชีพอิสระจะจัดอยู่เงินได้ประเภทที่ 2 ได้ จะต้องเป็นเงินได้จากการรับทำงานโดยทั่วไป และต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดเงินได้ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย (ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)

\'วิชาชีพอิสระ\' เคลียร์ให้ชัด! ต้องยื่นภาษีมาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่

ตัวอย่างกรณีอาชีพนักบัญชี รับทำบัญชี ในอดีตกรมสรรพากรได้มีการตีความว่า การรับทำบัญชี รวมถึงการให้บริการที่ปรึกษาทางบัญชีและภาษี เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (40(2)) กล่าวคือ เงินได้ที่ได้รับจากการให้บริการที่ปรึกษาทางด้านบัญชีและภาษี โดยรับค่าบริการเดือนละครั้งเป็นจำนวนที่แน่นอน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2)

ต่อมาหลังจากที่มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 นับบัญชีมีสภาวิชาชีพของตนเอง ไม่ต้องถูกควบคุมโดยทางราชการเหมือนเมื่อก่อน มีความเป็นวิชาชีพอิสระ ผู้ประกอบวิชาชีพรับจ้างทำบัญชี ย่อมถือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร การรับจ้างทำบัญชีไม่ว่าจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีของกิจการนั้นหรือไม่ก็ตาม จะถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ใช้องค์ความรู้การบัญชีอย่างเป็นอิสระจากผู้ว่าจ้าง ไม่ได้รับทำงานให้โดยทั่วไป

ทั้งนี้ ในส่วนของการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และถ้าหากผู้มีเงินได้มีทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท

\'วิชาชีพอิสระ\' เคลียร์ให้ชัด! ต้องยื่นภาษีมาตรา 40(2) หรือ 40(6) กันแน่

  • วิชาชีพอิสระ ลักษณะไหนเสียภาษีมาตรา 40(6)

เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 หรือเงินได้มาตรา 40(6) คือเงินได้พึงประเมินในรูปของค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดเงินได้ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลป์ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตัวอย่างวิชาชีพบัญชี คือวิชาชีพด้านการทำบัญชี ด้านการสอบบัญชี ด้านการบัญชีบริหาร ด้านการวางระบบบัญชี ด้านการบัญชีภาษีอากร ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี และการบริการเกี่ยวกับการบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยมีองค์ความรู้เฉพาะของตนเอง จะต้องได้รับการสั่งสอนอบรมเป็นวิชาชีพชั้นสูง ในลักษณะที่ต้องอบรมหลายปี เป็นการประกอบวิชาชีพที่มีมาตรฐานการปฏิบัติเป็นการเฉพาะสำหรับวิชาชีพบัญชี

ทั้งนี้ ในส่วนของการหักค่าใช้จ่ายสำหรับวิชาชีพอิสระ ผู้มีรายได้สามารถเลือกหักได้ 2 แบบคือ หักตามจริงแต่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายอยู่ครบทั้งหมด หรือเลือกหักแบบเหมา 30-60% ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย ซึ่งแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพอิสระดังนี้

- การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง

- วิชาชีพอิสระอื่นๆ ที่ไม่ใช่การประกอบโรคศิลปะ ประกอบด้วย กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง

สรุป...วิชาชีพอิสระควรยื่นภาษีมาตราไหนกันแน่
​สรุปสุดท้ายผู้มีรายได้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระ ทั้ง 6 อาชีพหลัก ถือเป็นวิชาชีพที่ผู้มีเงินได้จะต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านวิชาชีพนั้นๆ และมีใบประกอบวิชาชีพ โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน หรือจ่ายเป็นโครงการหนึ่งๆ ก็ตาม จึงจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 หรือมาตรา 40(6)

 


อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting