การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการพยากรณ์ทางธุรกิจเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอน

การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการพยากรณ์ทางธุรกิจเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอน

วิธีการวางแผนโดยวิธีการแบบเดิมๆ ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอน เนื่องจากมีมุมมองที่แคบเกินไปและไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ การจัดทำแผนงานมักประกอบด้วยสมมติฐานที่ไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ธุรกิจในปัจจุบันไม่เพียงแต่ต้องรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียด้วย แม้ว่าศักยภาพในการสร้างมูลค่าของธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ แต่พบว่าธุรกิจหลายแห่งมักพลาดโอกาสดังกล่าว เนื่องจากมุ่งเน้นที่การป้องกันความเสี่ยงและการรักษาเสถียรภาพมากกว่า ทั้งนี้ การวางแผนเชิงกลยุทธ์และการพยากรณ์ทางธุรกิจจะช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถให้ความสำคัญต่อเป้าหมายการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียได้

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.4% ในปี 2566 และอยู่ในช่วง 3.2% - 3.8% ในปี 2567 แต่การฟื้นตัวอยู่ภายใต้สภาวการณ์ไม่แน่นอน ทั้งจากนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะฟองสบู่ ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ส่งผลต่อความแม่นยำในการพยากรณ์ทางธุรกิจและประสิทธิผลในการพัฒนากลยุทธ์

วิธีการวางแผนโดยวิธีการแบบเดิมๆ ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอน เนื่องจากมีมุมมองที่แคบเกินไปและไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ การจัดทำแผนงานมักประกอบด้วยสมมติฐานที่ไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กระบวนการจัดทำที่ไม่ยืดหยุ่น เป็นอุปสรรคสำหรับผู้บริหารในการนำไปใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ ผู้บริหารควรมีแผนงานที่สามารถปรับใช้ในการดำเนินงานและตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ตามการเปลี่ยนแปลงของบริบททางธุรกิจอย่างทันการณ์ ถึงแม้ว่าผู้บริหารส่วนใหญ่มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าแผนกลยุทธ์และพยากรณ์ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดทำที่ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมและมีความเชื่อมโยงกัน แต่ยังมีอุปสรรคภายในองค์กรอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานแบบไซโล การขาดกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน โครงสร้างองค์กร และการให้ความสำคัญจากผู้บริหาร ตลอดจนการขาดวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน

Connected Planning หรือ การวางแผนกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงกัน  คือกระบวนการบูรณาการแผนจากทุกหน่วยงานในองค์กรเพื่อช่วยให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ดีขึ้นและลดการเป็นไซโล เพิ่มความแม่นยำของพยากรณ์ทางธุรกิจและได้แผนงานที่มีประสิทธิภาพ ผลการสำรวจของดีลอยท์ ระบุว่า จำนวนของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่มีความเชื่อมโยงกัน มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อความแม่นยำของพยากรณ์ทางธุรกิจที่จัดทำขึ้น ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ที่มีความเชื่อมโยงกัน ธุรกิจควรมีชุดข้อมูลที่ถูกต้องชุดเดียว ทั้งข้อมูลการดำเนินงานและข้อมูลทางการเงิน มีวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีกระบวนการและกำหนดการวางแผนกลยุทธ์ที่สอดคล้องกันทั่วทั้งองค์กร มีความเข้าใจในตัวขับเคลื่อนธุรกิจและลำดับความสำคัญทางธุรกิจที่ตรงกัน และหากเป็นไปได้ อาจมีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีแบบคลาวด์มาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสาร

Scenario Planning เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารคาดการณ์ถึงสถานการณ์ต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำไปพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี Scenario Planning ไม่ใช่การจัดทำแผนแบบเดิมที่แสดงผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเพียง 1 หรือ 2 ตัวแปร ระหว่างกรณีที่แย่ที่สุดและกรณีที่ดีที่สุด แต่พิจารณาจากความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่กว้างกว่าตัวแปรทางธุรกิจเพียงงไม่กี่ตัว เป็นการกำหนดสถานการณ์อย่างละเอียดรอบคอบ โดยพิจารณาผลกระทบและโอกาสที่ของผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ รวมถึงประมาณการผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น

ต่อมา เราจะพัฒนาแผนกิจกรรมการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทั้งแผนด้านปฏิบัติการ แผนทางการเงิน แผนลงทุน กำหนดการ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้แผนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถกำหนดสัญญาณเตือนเมื่อจะต้องพิจารณาปรับแผนการดำนินงานหรือกลยุทธ์ ทั้งนี้ เราพบว่าในปัจจุบันธุรกิจมักสร้างมูลค่าด้วย การจัดการต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไรและการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อเพิ่มรายได้เป็นแผนกิจกรรมหลัก

เป้าหมายของการสร้างมูลค่าจากการจัดการต้นทุนคือการหาวิธีที่ดีกว่าในการสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนที่มาจากการดำเนินธุรกิจ เมื่อเรามีภาพที่ชัดเจนของสถานการณ์ ผลกระทบ และโอกาสที่อาจเกิดขึ้นแล้ว แผนงานการจัดการต้นทุนจะเริ่มต้นจากการประเมินโมเดลทางธุรกิจ ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน ว่ามีสิ่งใดควรเปลี่ยนแปลง และสิ่งใดควรรักษาไว้ ไปจนถึงภาพที่เราจินตนาการไว้ ซึ่งการกำหนดและการจัดลำคับความสำคัญในการดำเนินการขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน และความกระหายในการลงทุนระยะยาว การใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการเติบโตเป็นแนวทางที่หลายองค์กรกำลังดำเนินการอยู่ 

แม้ว่าทุกคนยอมรับว่าข้อมูลมีความสำคัญมากในธุรกิจปัจจุบัน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าเราบริหารจัดการข้อมูลอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดที่มีไม่ได้มีความสำคัญเท่ากัน เราให้ความสำคัญกับข้อมูลที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ โดยอิงตามอุตสาหกรรมและแผนกลยุทธ์ การเข้าถึงข้อมูลอย่างทันการณ์และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยผู้บริหารในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการสร้างโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและเพิ่มช่องทางการตลาด ความสามารถในการจัดการ Big Data ช่วยให้ธุรกิจมีความคล่องตัวในการค้นหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะช่องทางดิจิทัล การจัดกลุ่มข้อมูลลูกค้าช่วยให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น การนำข้อมูลไปใช้ในหน่วยงานขาย การตลาด หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปสู่โอกาสในการเข้าตลาดใหม่ เกิด Cross Selling และปรับปรุง Customer Experience ได้อีกด้วย