‘สมประวิณ’ ชี้เศรษฐกิจไทยรั้งท้าย ฟื้นตัวช้า อยู่ที่อันดับ 155 จาก 189 ประเทศ

‘สมประวิณ’ ชี้เศรษฐกิจไทยรั้งท้าย ฟื้นตัวช้า อยู่ที่อันดับ 155 จาก 189 ประเทศ

“สมประวิณ” อีไอซี เปิดผลสำรวจ การฟื้นตัวเศรษฐกิจของ 189 ประเทศ นับจากโควิด-19 พบประเทศไทย รั้งท้าย การฟื้นตัวเศรษฐกิจอยู่ที่อันดับ 155 สะท้อน ฟื้นตัวช้า แถมฟื้นตัวบนคุณภาพไม่ดี พบคนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย และมีหนี้สินมากกว่าก่อนโควิด

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากดูภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน แม้ว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หากเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 แต่ในด้านคุณภาพของการฟื้นตัว ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี 

โดยจากการสำรวจของ EIC จาก 189 ประเทศ เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ โควิด-19 พบว่า ประเทศไทย มีลำดับการฟื้นตัวอยู่ที่อันดับ 155  ซี่งสะท้อนว่า ประเทศไทย ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะหากเทียบกับระดับก่อนระดับโควิด-19 

นอกจากฟื้นตัวช้าแล้ว ยังพบว่า คนส่วนใหญ่ที่ถูกผลกระทบจากโควิด ยังไม่ฟื้นตัว และฟื้นตัวช้าค่อนข้างมาก 

จากการสำรวจของ EIC จากครัวเรือนกว่า 2 พันครัวเรือน พบว่า คนส่วนมาก ยังเผชิญกับรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และยังเผชิญกับปัญหาหนี้สินยังมีอยู่มาก 

โดยในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท กลุ่มนี้ยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และมีหนี้สินมากขึ้น หากเทียบกับระดับก่อนโควิด ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายถึง 73% เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก 

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ EIC พบว่า หากแบ่งครัวเรือนเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% ทั้งกลุ่มบน กลุ่มกลาง และกลุ่มระดับล่างๆ พบว่า 40% ล่าง เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งจากการคาดการณ์ของ EIC คาดว่ากลุ่มนี้จะใช้เวลากว่า 3 ปี รายได้ถึงสามารถกลับมามีรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่ายได้ ดังนั้นการเข้าไปดูแลกลุ่มนี้ต้องอาศัยมาตรการเฉพาะเจาะจง และใช้งบประมาณอย่างมีสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีการพูดถึงดอกเบี้ย เพื่อเอื้อให้คนเข้าถึงระบบมากขึ้น ส่วนนี้มองว่า ประเด็นด้านราคา หรือดอกเบี้ย ไม่ใช่อุปสรรคเสมอไป แต่ปัญหาอยู่ที่ วันนี้คนต้องการเข้าถึงเงินกู้นอกระบบมากขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ แม้จ่ายดอกเบี้ยแพงกว่า สะท้อนว่า ราคาอาจไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่การเข้าถึงสินเชื่อ ดังนั้นโจทย์คือทำอย่างไรให้ คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในระยะข้างหน้ามากขึ้น