ภาษิตที่จะทำให้คุณรู้ทันโลกการเงินในปี 2024 (ครึ่งแรก)

ภาษิตที่จะทำให้คุณรู้ทันโลกการเงินในปี 2024 (ครึ่งแรก)

ภาษิตที่จะทำให้คุณรู้ทันโลกการเงินในปี 2024 ในช่วงครึ่งแรกของปี ภาษิตมักออกไปในแนวให้กำลังใจ เข้าซื้อเมื่อตลาดปรับฐาน ในปีที่เศรษฐกิจชะลอตัวจึงควรจับตาไปที่จังหวะและขนาดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ภาษิต” หรือคำโบราณว่าไว้มักถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

ในตลาดการเงินก็ไม่ต่างกัน เริ่มปี 2024 นี้ ผมจึงขอหยิบภาษิตต่างประเทศที่น่าสนใจในแต่ละเดือน มาวิเคราะห์คู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน และพยากรณ์ให้นักลงทุนรู้ทันตลาดไปพร้อมกัน

มกราคม “As goes January, so goes the year.”

ตลาดเชื่อว่าม.ค.เป็นเดือนที่กำหนดทิศทางของทั้งปีที่จะถึง ย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ปี 1950 ภาษิตนี้เป็นจริงกว่า 75% แม้ในช่วงหลังปี 2000 ความสัมพันธ์นี้จะลดบทบาทลงมาก นักลงทุนได้ยินแต่ “January Effect” ที่หมายถึงหุ้นขึ้นรับเดือนม.ค.แทน แต่ทิศทางในเดือนม.ค.ก็ยังมีความสำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง

สำหรับปี 2024 จับตาวันที่ 23 ที่จะมีการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ครั้งแรก ตลาดคาดว่า BOJ จะส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นรับปีใหม่ อาจเป็นการยกเลิกมาตรการควบคุมยีลด์ (YCC) หรือจบดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate)

ส่วนฝั่งสหรัฐ จะมีการรายงาน Treasury Refunding สำหรับปีนี้ในวันที่ 29 ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐสหรัฐปัจจุบันที่สูงกว่า 40%/GDP และระดับหนี้ภาครัฐที่สูงถึง 34ล้านล้านดอลลาร์ ปริมาณบอนด์ที่ออกใหม่ต้องเพิ่มขึ้นมาก

บอนด์ยีลด์ทั่วโลกจึงเป็นตัวแปรที่ต้องจับตาที่สุด

กุมภาพันธ์ “The Groundhog Day Effect.”

เดือนก.พ.เป็นเดือนที่ไม่มีทิศทางชัดเจน ตลาดการเงินมักมีแนวโน้มที่คล้ายกับช่วงเดือนหรือปีที่ผ่านมาจึงได้ภาษิตนี้มาจากหนังเรื่อง Groundhog Day ที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ตื่นมาวันที่ 2ก.พ.ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สำหรับปี 2024 วันที่ 24 ก.พ.จะเป็นวันครบรอบสองปีที่รัสเซียบุกยูเครน เป็นคำถามว่า ประเด็นด้านความขัดแย้งทางการเมือง และสงครามจะถูกปลุกขึ้นมาร้อนแรงอีกหรือไม่ ตัวแปรที่ต้องจับตาสำหรับเดือนนี้จึงหนีไม่พ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์

มีนาคม “Beware the ides of March.”

เป็นภาษิตบนความเชื่อที่ว่าเดือนมี.ค.มักมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น 15 มี.ค. วันที่จูเลียส ซีซาร์ ผู้ปกครองโรมันถูกสังหาร หรือปี 2008 วันที่ 15 มี.ค.เป็นวันที่ธนาคาร Bear Stearns ถูกขายให้กับ JP Morgan Chase จุดเริ่มต้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ในปี 2024 มีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการเมืองสหรัฐที่คาดหมายกันว่าจะร้อนแรงขึ้นในวัน Super Tuesday ที่ 5 มี.ค.เพื่อเลือกตัวแทนของพรรคลงสมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดี

นอกจากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ครั้งสำคัญในวันที่ 20 ตลาดคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน หรือลดดอกเบี้ย

ด้วยความเสี่ยงที่ไม่คาดฝัน การเมือง และทิศทางดอกเบี้ย จะทำให้เงินดอลลาร์เป็นสิ่งที่ต้องจับตาไม่กระพริบในเดือนนี้

เมษายน “April showers bring May flowers.”

สำนวนที่หมายถึงเหตุการณ์ไม่ดีในปัจจุบัน อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในอนาคต

ใช้เปรียบเทียบกับเดือนเม.ย.ที่ตลาดมักมีความผันผวนเกิดขึ้นก่อนเช่นวิกฤตดอทคอมปี 2000 หรือวิกฤติโควิดปี 2020 ตลาดตกต่ำที่สุดช่วงเดือนนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

เดือนเม.ษ.จะมีเป็นช่วงการรายงาน GDP ไตรมาสแรกทั่วโลก ภาพเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แนะนำจับตาไปที่ US ISM Manufacturing PMI ถ้ารายงานหดตัว (ต่ำกว่า50จุด) จะเป็นการหดตัวต่อเนื่องนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000

ตลาดหุ้นเอเชียที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากแรงส่งของภาคอุตสาหกรรมโลกจึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเดือนนี้

พฤษภาคม “Sell in May and go away.”

เป็นภาษิตคุ้นหูที่บอกว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนที่ต่ำในช่วงเดือนพ.ค.ถึงต.ค. มีที่มาจากพฤติกรรมนักลงทุนสมักก่อนที่หยุดพักผ่อน ในปัจจุบันแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับแนวโน้มตลาด

อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้วันที่ 1-3 จะเป็นวันครบกำหนดการไต่สวนบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ในสหรัฐเช่น Google และ Meta เรื่อง Anti-Trust อาจกดดันหุ้นทั้งตลาด เนื่องจากสัดส่วนของ Magnificent Seven อยู่ในระดับสูงถึงกว่า 30% ของ S&P500

มิถุนายน “Never sell a June Swoon.”

เป็นสำนวนที่ใช้เพื่อบอกอย่าขายหุ้นแม้ว่าผลตอบแทนจะแย่ เดือนมิ.ย.เป็นเดือนที่ไม่ดีไม่แย่สำหรับทั้งหุ้นไทยและสหรัฐในอดีต

สำหรับปีนี้ มีการประชุมของทุกธนาคารกลางสำคัญไล่ตั้งแต่ ECB วันที่ 6 กนง.วันที่ 12 FOMC วันที่ 13 และ BOJ วันที่ 14 ทุกที่มีโอกาสปรับนโยบายการเงินช่วงนี้ทั้งหมด ตลาดเชื่อว่าเฟดจะส่งสัญญาณจบ QT ไปพร้อมกัน

นอกจากนั้น วันที่ 6-9 จะมีการเลือกตั้ง European Parliament มีผลกับการกำหนดทิศทางและนโยบายของ EU ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุด คือประเด็นความมั่นคง และยูเครน ตัวแปรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือเงินยูโรและหุ้นยุโรป

สรุปในช่วงครึ่งแรกของปี ผมมองว่าภาษิตมักออกไปในแนวให้กำลังใจ เข้าซื้อเมื่อตลาดปรับฐาน ในปีที่เศรษฐกิจชะลอตัวจึงควรจับตาไปที่จังหวะและขนาดของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

อาทิตย์หน้าผมจะเขียนถึงภาษิตและเหตุการณ์สำคัญครึ่งหลังปี 2024 รอติดตามกันนะครับ