มองภาพปี 2567 เศรษฐกิจไทยโตได้ แต่ไม่เหมือนเดิม?
เศรษฐกิจไทยปี 67 ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทายจากปัจจัยลบนอกประเทศที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น รวมถึงข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่ยังเป็นอุปสรรคในการเติบโตอย่างยั่งยืน
ก่อนอื่นขอสรุปภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 ที่ผ่านมาก่อน ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ค่อนข้างน่าผิดหวัง เห็นได้ชัดจากตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พลาดเป้าไปพอสมควร ขณะที่ส่งออกค่อนข้างเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่สิ่งที่ค่อนข้างแปลกใจ คือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
ก้าวสู่ปี 2567 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.1% จากการจับจ่ายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้ ความหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่ถือว่ายังขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และมีแนวโน้มโตต่ำกว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่พระเอกหลักของเศรษฐกิจไทย ในช่วง หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาก็อาจโตได้ไม่เหมือนเดิม
พระเอกตัวแรก ได้แก่ ภาคส่งออกที่ต้องเผชิญหลากหลายปัจจัยรุมเร้า มองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน จะขยายตัวชะลอลงในปี 2567 นี้ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป คาดว่าจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ปมภูมิรัฐศาสตร์ยังคงครุกรุ่นหลายภูมิภาค ภาพการแบ่งขั้ว (Decoupling) ของมหาอำนาจโลกมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น ขณะที่นโยบายกีดกันทางการค้าและกฎกติกาด้าน ESG ก็จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกน่าจะผันผวนไม่แพ้กับปีที่ผ่านมา หลังเห็นการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ค่อนข้างมาเร็วและหลายระลอกในปีนี้ ทั้งยังมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศเศรษฐกิจหลักที่น่าจะสร้างความปั่นป่วนกับค่าเงินบาทของไทยได้ตลอดทั้งปี เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของภาคส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ปรับตัวได้ช้า
ถัดมาคือ ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่กลับสู่จุดพีค แม้สัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออก แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในแง่ของการกระจายรายได้ไปสู่ฐานรากได้ไม่น้อย โดยเฉพาะแรงกระเพื่อมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่า ด้วยสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 25% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูง ๆ อย่างมัลดีฟส์และกาตาร์ที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากชาติใดชาติหนึ่งไม่ถึง 20% ทำให้เมื่อกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวชาวจีนชะลอ หรือแม้แต่การที่ไทยอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่หอมหวานของชาวจีนเหมือนในอดีต เห็นได้จากยอดนักท่องเที่ยวจีนตลอดปี 2566 เข้าไทยเพียง 3.5 ล้านคนเมื่อเทียบกับอดีตที่เคยสูงถึง 10 ล้านคน จึงไม่แปลกที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในภาพรวมในปี 2566 จะฟื้นตัวได้เพียง 70% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในปี 2562 และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 80% ในปี 2567
ในแง่ของการลงทุน ปีนี้การลงทุนภาครัฐมีแววสะดุดต่อ โดยเฉพาะโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะล่าช้าออกไปจากความล่าช้าในการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ด้านการลงทุนภาคเอกชนพอจะฟื้นได้บ้าง ส่วนเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เข้าไทยมาได้ค่อนข้างดีจากยอดขอรับการสนับสนุนการลงทุน (BOI) 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 22% อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าไทยยังขาด Growth Engine ใหม่ ๆ ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยการลงทุน FDI ส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนในภาคการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงนัก และมีแนวโน้มลดลงในระยะหลังเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่ Growth Engine เดิมอย่างภาพของ “Detroit of Asia” ฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) แห่งเอเชียของไทยก็กำลังเจอความท้าทายระลอกสำคัญ ได้แก่ การเข้ามาอย่างรวดเร็วของรถยนต์ EV ซึ่งก็น่าจะมีผลกระทบต่อผู้รับจ้างผลิตในประเทศที่ปรับตัวช้าอยู่พอสมควร
สำหรับการบริโภคในประเทศซึ่งเป็นพระเอกสำคัญของเศรษฐกิจไทยนั้น อาจต้องเจอแรงเสียดทานเพิ่มเติมจากสภาวะ High-for-Longer หรือดอกเบี้ยทรงตัวสูงและยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในรอบวัฎจักรดอกเบี้ยไทย ซ้ำเติมประเด็นหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรัง โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดราว 3-4% ต่อปี ซึ่งดูง่าย ๆ คือหนี้ครัวเรือนไทยโตเร็วกว่าจีดีพีของประเทศ โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเกินระดับ 90% ของจีดีพีไปแล้ว ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบอีกไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งระบบ นอกจากนี้ ในมิติของการก่อหนี้ก็ดูจะน่ากังวลไม่น้อย เนื่องจาก 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เพื่อการบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็ย่ำแย่ลงจากจำนวนหนี้เสีย (NPL) และหนี้ที่เสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสีย (Stage2) ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 รวมกันสูงถึงเกือบ 5.2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถ้าไม่นับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ท่ามกลางบรรยากาศที่นโยบายทางการเงินยังเข้มงวดต่อไป ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งน่าจะกระทบกับภาระหนี้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนอยู่ไม่น้อย
สรุปแล้ว เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทายจากปัจจัยลบนอกประเทศที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น รวมถึงข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่ยังเป็นอุปสรรคในการเติบโตอย่างยั่งยืน โจทย์สำคัญคือ New Engine of Growth ที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยคืออะไร คงต้องหาคำตอบกันต่อไป...