ค่าเงินบาทวันนี้ 4 ม.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 4 ม.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 4 ม.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่า ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดกลับมาคกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.30-34.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.32 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามที่เราได้ประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 34.31-34.55 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้น ตามความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จากถ้อยแถลงของ Thomas Barkin ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ที่ส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 4 ม.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น โดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งประเด็นว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (จากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ล่าสุด) และ เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ โดยภาพดังกล่าว ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ 

นอกจากนี้ การปรับฐานของราคาทองคำในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงอยู่ และแนวโน้มอุปทานน้ำมันดิบที่อาจตึงตัวระยะสั้น จากการปิดบ่อน้ำมันในลิเบีย ก็อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในจังหวะดังกล่าว เงินบาทก็อาจถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันของผู้เล่นในตลาดได้ 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้ไม่ยาก ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของตลาดหุ้นไทยรอบล่าสุดได้บ้าง ทั้งนี้ แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจถูกชะลอลงได้บ้าง จากโฟลว์ซื้อบอนด์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังเชื่อว่า เงินบาทจะมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทได้อ่อนค่าเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวไปได้ไกลมากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้

ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ความกังวลแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ได้กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพิ่มเติม อาทิ Tesla -4.0%, Nvidia -1.2% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Chevron +1.9%, Exxon Mobil +0.8% หลังราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า +4.3% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.80% 

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.86% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมถึงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายหุ้นเทคฯ หุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ ASML -2.9%, LVMH -3.8% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare เช่น Roche +4.4%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% จากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ หากอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนตามที่เฟดต้องการ อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ดัชนี ISM ภาคการผลิต ออกมาดีกว่าคาด แต่ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ หรือ Job Openings ออกมาแย่กว่าคาด) รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 3.90% อนึ่ง แม้เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว แต่ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในคืนก่อนหน้า ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่ระดับ 102.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.2-102.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทยอยปรับตัวลดลง สู่ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (หลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้) ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ที่อาจสะท้อนถึงแนวโน้มของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claim)