'เวิลด์แบงก์' ดันธุรกิจสีเขียว แรงขับเคลื่อนประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

'เวิลด์แบงก์' ดันธุรกิจสีเขียว  แรงขับเคลื่อนประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

“เวิลด์แบงก์” ชูเศรษฐกิจสีเขียวเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศโตยั่งยืน มองเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ - ช้าสุดในภูมิภาค แม้ปีหน้าจีดีพีฟื้นโต 3.2% จากปีนี้ 2.5% ชี้มีปัญหาเชิงโครงสร้างเร่งแก้ไข แนะดึงเงินลงทุน “เอฟดีไอ - เก็บภาษีเพิ่มพื้นที่การคลัง”

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่ 2.5% และปี 2567 ที่ 3.2% ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมปี 2566 ที่ 3.4% และปี 2567 ที่ 3.5% โดยมองเศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นตัวจากปีนี้ จากปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวท่องเที่ยว ส่งออกสินค้า การบริโภค และภาคเอกชน ซึ่งคาดเป็นแรงผลักดันสำคัญในการโต 

โดยมองหลังวิกฤติโควิด-19 พบการขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และยังฟื้นตัวต่ำที่สุดเทียบกับภูมิภาคเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เกิดจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวระดับสูง 

\'เวิลด์แบงก์\' ดันธุรกิจสีเขียว  แรงขับเคลื่อนประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

ดังนั้น มองการแก้ไขในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนวัตกรรม และทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะทางด้านนวัตกรรม และถึงแม้ปัจจุบันพื้นที่การคลังยังมีอยู่มาก และมีความยืดหยุ่น แต่มองควรตั้งเป้าหมายการคลังให้ถูกจุด รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ด้วยช่องทางการจัดเก็บภาษี เพื่อนำเงินไปใช้เพิ่มเติมในกลุ่มที่เป็นประโยชน์ และสร้างความยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว  

จากการเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยล่าสุด (14 ธ.ค.66) ระบุว่า การเติบโตเศรษฐกิจปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออก และลดการใช้จ่ายภาครัฐ แต่คาดเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นในระดับปานกลางที่ 3.1% ในปี 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดชะลอตัวสู่ 1.1% ในปี 2567 เนื่องจากราคาพลังงานลดลง 

อย่างไรก็ตาม คาดราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ซึ่งมูลค่าโครงการ 500,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 2.7% ของจีดีพี หากมีการดำเนินโครงการในเดือนพ.ค.67 คาดจะสามารถกระตุ้นการเติบโตระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น 0.5 - 1% ของจีดีพีในช่วงระยะ 2 ปี (67 - 68 ) แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4 - 5% ของจีดีพีใกล้ระดับเฉลี่ยช่วงวิกฤติการระบาดโควิด-19 ในปี 63 - 65 ขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65 - 66% ของจีดีพี 

ทางด้านการส่งออกสินค้าในปี 67 คาดจะฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้ และภาวะการเงินโลกคาดจะผ่อนคลายลง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว ส่วนการกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีน ส่งผลต่อแนวโน้มการท่องเที่ยว แม้การฟื้นตัวจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกก็ตาม 

โดยในปี 67 คาดจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน คิดเป็น 90% ของระดับก่อนการระบาดโควิดในปี 62 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปี 66 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูงกลายเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ 

นายฟาบริชิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน 

ขณะที่รายได้ที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอนสามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ สนับสนุนการใช้จ่ายสาธารณะ ตัวอย่าง ราคาคาร์บอนอาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และได้ดำเนินการขั้นแรกเพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุมการซื้อ - ขายการปล่อยก๊าซภาคสมัครใจได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 58 นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ไทยจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์