กนง. ชี้ ’เงินเฟ้อ’ ติดลบระยะสั้น ไม่นำไปสู่ ‘ภาวะเงินฝืด‘

กนง. ชี้ ’เงินเฟ้อ’ ติดลบระยะสั้น ไม่นำไปสู่ ‘ภาวะเงินฝืด‘

กนง.ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวสู่จุดสมดุลมากขึ้นในปีหน้า ประเมินจีดีพีขยายตัวที่ 3.2% แม้ไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต นับเป็นการขยายตัวระดับกลางๆ ไม่หวือหวา พร้อมย้ำดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นระดับเหมาะสม ในการดูแลความเสี่ยง มั่นใจไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)​ ครั้งล่าสุด ที่ประชุมจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% แต่เริ่มมีคำถามบ้างแล้วว่า ดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทยในเวลานี้มากน้อยแค่ไหน

โดยเฉพาะหลังจากกระทรวงพาณิชย์เพิ่งประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ย.2566 หดตัวถึง 0.44% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ทำให้ตลาดเริ่มกังวลว่าไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ 
 

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเป็นการฟื้นตัวที่ล่าช้า และไม่ได้ฟื้นตัวเท่ากันในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ

แต่คาดว่าระยะถัดไปเศรษฐกิจจะขยายตัวสมดุลมากขึ้น จากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และการส่งออกที่จะกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้า
 

อย่างไรก็ตาม แม้มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะฟื้นตัวมาเติบโตในระดับ​3.2% แม้ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด จากการฟื้นตัวของเศษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคส่งออกว่าจะกลับมาเหมือนที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ 

ทั้งนี้การคาดการณ์จีดีพีปีหน้าที่ 3.2% ยังเป็นการมองภาพเศรษฐกิจระดับกลางๆ ไม่ได้หวือหวาเกินไป และใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ หรือศูนย์วิจัยอื่นๆ ได้คาดการณ์ไว้ 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าในเดือนธ.ค.ปีนี้ และต้นปี 2568 น่าจะยังอยู่ในระดับติดลบ แต่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสแรกปีหน้า จากผลกระทบของเอลนิโญที่มีความชัดเจนมากขึ้น และราคาอาหารสด พลังงานที่มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

นายปิติ กล่าวว่า การติดลบช่วงสั้นๆของเงินเฟ้อ เชื่อว่าไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึง ภาวะเงินฝืด เนื่องจากการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำมาจากปัจจัยพิเศษ ทั้งจากฐานสูงปีก่อน และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟของภาครัฐ รวมถึงราคาสุกรที่อยู่ระดับต่ำ ดังนั้นหากมองไปในระยะข้าหน้า เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และเชื่อว่าระยะกลาง เงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธปท.ที่ 1-3%ได้

สำหรับในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% เป็นระดับที่ “neutral” หรือเหมาะกับระดับศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาว และเป็นระดับที่ไม่ได้เพิ่มแรงสนับสนุน หรือฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ดังนั้นในภาวะที่ดีมานด์ยังขยายตัวได้ดี กนง.จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่นโยบายการเงินจะต้องเพิ่มแรงสนับสนุนทางเศรษฐกิจพิ่มเติม

“มองว่าการปรับดอกเบี้ยมาที่ระดับ 2.50% ที่เป็นระดับ neutral เหมือนซื้อประกันความเสี่ยงให้เรา ให้สามารถมูฟความเสี่ยงไปได้ทั้งสองด้าน หากมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น วันนี้เราอยู่ในจุดที่เหมือนเล่นเทนนิส อยู่กลางคอร์ตพอดี ที่พร้อมรับความเสี่ยงทั้งสองด้าน ขอให้รู้ไว้ว่ากนง.เราไม่ได้ประมาท และเราเห็นความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ในเรด้า และเชื่อว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันมีความเหมาะสมในการดูแลความเสี่ยงในปัจจุบันได้”

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ภาวะการเงินในปัจจุบันตึงตัวมากขึ้น หากเทียบกับบริบทก่อนโควิด แต่ภาวะการเงินที่ตึงตัว ไม่ได้แตกต่างจากคาดการณ์ของกนง.เดิม และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาปรับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น ที่มีการส่งผ่านไปสู่ดอกเบี้ยในตลาด

เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ หรือ MLR ที่มีการปรับขึ้นราว 70% แต่ในส่วนดอกเบี้ยรายย่อย มีการปรับขึ้นเพียง 50% จากดอกเบี้ยที่ขึ้นมาที่ราว 2% ดังนั้นยังเชื่อว่า ภาวะการเงินที่ตึงตัว ไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย

นายปิติ กล่าวต่อในส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า แม้จะเพิ่มภาระทางการคลัง แต่การก่อหนี้ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้ และมองในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ภาคการคลังก็ยังมีเสถียรภาพ และเชื่อว่า โครงการนี้จะไม่ทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับเครดิตลงในระยะข้างหน้า