COP28: ความคาดหวังและผลกระทบในบริบทของไทย

ทั่วโลกจับตาการประชุม COP28 อย่างใกล้ชิด และคาดหวังความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมจากประเทศที่ให้คำมั่นด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย 3 ด้าน

สัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลกจับตาการประชุม COP28 อย่างใกล้ชิด และคาดหวังความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมจากประเทศที่ให้คำมั่นด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกมีปริมาณเพิ่มสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์และเกิดภัยพิบัติรุนแรง อาทิ ไฟป่าขนาดใหญ่ในแคนาดา และมหาอุทกภัยในปากีสถาน โซมาเลีย และเคนยา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวต่างกดดันให้ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญกับการหารือเพื่อขอคำมั่นต่อการปลดระวางการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Phase Out) และการหาข้อสรุปของกลไกการสนับสนุนเงินทุนเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมาตรการติดตามการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม

การประชุม COP28 เข้าสู่ช่วงสุดท้ายที่จะปิดประชุมอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งมีหัวข้อการประชุมที่มีนัยสำคัญ 3 ด้านคือ ด้านพลังงานเพื่อหารือทิศทางในอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสรุปการหารือและวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทยได้ดังนี้

1.ด้านพลังงาน : หารือเรื่องอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล – ที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ เน้นย้ำถึงความร่วมมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานมาโดยตลอด คาดว่าครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ได้แสดงจุดยืนและหันมาเรียกร้องให้มีการปลดระวางการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Phase Out) แทนการลดปริมาณการใช้ตามกรอบเวลาที่กำหนด (Phase Down) ตามกลยุทธ์ Double Down, Triple Up ขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency: IRENA) ที่วางแผนเร่งกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่าให้ถึง 11,000 กิกะวัตต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2573

แม้ไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งจากการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศและนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ไทยได้ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่ 12 กิกะวัตต์ (ร้อยละ 20.6 ของกำลังการผลิตทั้งหมด) และมุ่งเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 34.2 ในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของการลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนในประเทศไทย

2.ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ความคืบหน้าของเงินช่วยเหลือผ่านกองทุน Loss and Damage และกลไกร่วมลงทุน – แม้จะมีความกังวลต่อเงินทุนที่ไม่เพียงพอเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การประชุมสามารถสรุปเงินช่วยเหลือได้ถึง 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้บรรลุข้อตกลงกองทุน Loss and Damage ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน 726 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมอบหมายให้ธนาคารโลกเป็นผู้จัดการกองทุนชั่วคราว 

นอกจากนี้ ยังมีการตกลงให้เงินทุนสนับสนุนผ่านกลไกร่วมลงทุน Blended Finance ที่ขับเคลื่อนโดยภาครัฐและเอกชน ในปีที่ผ่านมากลไกนี้ได้จัดสรรเงินทุนไปแล้วประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในครั้งนี้ ผู้แทนกองทุนได้ประกาศอัดฉีดเงินก้อนใหม่ อาทิ กองทุน Green Climate Fund (3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกองทุน The Catalytic Climate Finance Facility (2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับประเทศในแอฟริกาและลาตินอเมริกาซึ่งจะเปิดรับข้อเสนอโครงการในเดือนมีนาคม 2567

3.ด้านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม-ผลสรุปจากการสำรวจของสหประชาชาติ (UN Global Stocktake) พบว่าการดำเนินงานเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีกลไกการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) เพื่อผลักดันและเร่งการดำเนินงานให้โปร่งใสและเป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2567 - 2568 

ไทยยังคงเป็นประเทศเปราะบางและเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติ ด้วยบริบทนี้ไทยจึงต้องการเงินสนับสนุนจากกลไกการเงินระดับโลก การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของไทยจะแสดงบทบาทและจุดยืนของไทยในการเปลี่ยนผ่านประเทศเพื่อดึงดูดเงินลงทุน ภาครัฐควรเร่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนสีเขียว อาทิ การออกนโยบายที่ชัดเจนควบคู่พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการที่สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดกลุ่ม Thailand Taxonomy ซึ่งระบบนิเวศนี้จะช่วยให้ภาคการเงินสามารถประเมินและจัดสรรเงินทุนได้ตรงจุด โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำที่เกิดขึ้นจริง 

ปัจจุบัน ไทยยังคงเดินหน้าดำเนินงานตามคำมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ภาครัฐจำเป็นต้องวางรากฐานด้านนโยบายและสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคการเงินและภาคธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานมีความเข้าใจและมีศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอและนำพาให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ในอนาคต