บสย.พร้อมลดต้นเงินกู้ 15% ช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีปลดหนี้
บสย.พร้อมลดต้นเงินกู้ 15% ช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีปลดหนี้ ตั้งงบ 3 พันล้านช่วยรัฐแก้หนี้นอกระบบ เดินหน้า PGS 11 วงเงิน 1 แสนล้านค้ำประกันสินเชื่อปี 67
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยว่า บสย.มีแผนเข้าช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ต้องการปิดยอดการชำระหนี้ที่เร็วขึ้นจากกำหนดเดิม โดยจะเข้าไปช่วยลดต้นเงินกู้ให้ถึง 15% ของยอดหนี้ที่เหลือ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ต้องเป็นลูกหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้สีเขียวหรือกลุ่มลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ซึ่งอยู่ในมาตรการช่วยเหลือหรือประนอมหนี้ของ บสย.ตั้งแต่เดือนเม.ย.65 ถึงปัจจุบัน โดยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวนี้มีสัดส่วนราว 80% ของลูกหนี้ที่เข้ามาตรการประนอมหนี้ทั้งหมด 1.26 หมื่นราย มูลหนี้รวมกว่า 4.6 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ คาดว่า จะมีการปิดยอดชำระหนี้กับบสย.ราว 50%
“ลูกหนี้ที่มีวินัยชำระดี หากต้องการปิดยอดชำระหนี้ เราจะมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ โดยลูกหนี้ต้องผ่อนชำระมาแล้วระยะหนึ่ง หรือ ไม่ต่ำกว่า 10% ของยอดหนี้ เราจะลดหนี้เงินต้นให้ถึง 15% เมื่อรวมกับยอดชำระหนี้ไปแล้ว เท่ากับว่า ลูกหนี้จะปิดยอดเงินต้นแค่ 75% เท่านั้น”
สำหรับการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล “หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ “ บสย. อยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอขอขยายวงเงินโครงการ PGS 10 ที่เหลืออยู่ประมาณ 3 พันล้านบาท เตรียมพร้อมช่วยลูกหนี้ และ กลุ่มอาชีพอิสระ เพื่อช่วยกลุ่มลูกหนี้ SMEs ที่ใช้เงินทุนนอกระบบ โดยใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล มั่นใจช่วยลดความเหลือมล้ำ ช่วยบรรเทาลูกหนี้จากการเป็นหนี้นอกระบบ
"บสย.จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหนี้ดังกล่าว ด้วยการหามาตรการมาจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้บัตรเครดิตเสริมสภาพคล่อง มายื่นกู้สินเชื่อเอสเอ็มอี โดยบสย.จะเป็นผู้ค้ำประกัน เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตเฉลี่ย 17-24% ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีเฉลี่ย 8-10% หากสามารถช่วยกลุ่มนี้ได้ เชื่อว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้
อีกทั้ง จะช่วยลดการเป็นหนี้นอกระบบได้ด้วย เพราะผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ไม่ต้องใช้บัตรเครดิตเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ เพราะดอกเบี้ยหนี้นอกระบบเป็นการจัดเก็บรายวัน เฉลี่ย 8%ต่อเดือนหรือ 56% ต่อปี"
นอกจากนี้ เร็วๆนี้ บสย.ยังเตรียมที่จะเสนอโครงการ PGS 11 เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราค่าธรรมเนียมผ่อนปรนในวงเงินรวม 1 แสนล้านบาทในปี 67
ทั้งนี้ ในปี 66 บสย.ได้อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 9.6 หมื่นราย วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 80% ของจำนวนเอสเอ็มอีเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม Micro มีฐานลูกค้าสะสมรวมกว่า 8.15 แสนราย
จำแนกสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อรายภูมิภาค อันดับ 1. กรุงเทพฯและปริมณฑล 45% อันดับ 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15% อันดับ 3. ภาคใต้ 13% อันดับ 4.ภาคเหนือ 11% อันดับ 5.ภาคตะวันออก9% อันดับ 6. ภาคกลาง 4% และ อันดับ 7.ภาคตะวันตก 3%
กลุ่มอุตสาหกรรมค้ำประกันสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ สัดส่วนการค้ำ 30% วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท(รับเหมา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งโรงแรมและหอพัก บริการท่องเที่ยว) อัตราการเติบโต 3% 2.การผลิตสินค้าและการค้าอื่น ธุรกิจการค้า สัดส่วนการค้ำ 11% วงเงิน 1.13 หมื่นล้านบาท (การค้าวัสดุก่อสร้าง การค้าปลีกและแผงลอยและตลาดสด การค้าอื่นๆ 19% การผลิตอื่นๆ 14% ค้าของเก่าและโทรศัพท์มือถือ)
3.เกษตรกรรม สัดส่วนการค้ำ 10% วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท (ค้าส่งผักและผลไม้ การค้าชากาแฟ การค้าสินค้าเกษตรอื่นๆ ปศุสัตว์ การค้าส่งข้าว ) 4.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 5.กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นภาคธุรกิจการบริโภคในประเทศ ในภาคท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ครองสัดส่วนการค้ำประกัน 68%