ผู้ลงทุนกับกองทุนรวม

ผู้ลงทุนกับกองทุนรวม

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันบริษัทจัดการลงทุน หรือ Investment Company Institute (ICI) ของสหรัฐได้เผยแพร่ผลการวิจัยผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม พบว่า ในปี 2566 นี้ ชาวอเมริกัน 68.7 ล้านครัวเรือน หรือ 52.3% ของครัวเรือนในสหรัฐทั้งหมด โดยนับเป็นจำนวนประชากรได้ 116 ล้านคน มีการลงทุนในกองทุนรวม

และหากรวมผู้ลงทุนในกองทุนตลาดรอง หรือ Exchange Traded Funds (ETFs) ด้วยแล้ว สัดส่วนก็จะเพิ่มเป็น 71.5 ล้านครัวเรือน หรือ 54.4% ของครัวเรือนอเมริกัน นับเป็นจำนวนประชากรได้ 120.8 ล้านคน เป็นผู้ที่มีการลงทุนในกองทุน ซึ่งรวมถึงกองทุนรวมทั้งปิดและเปิด และ ETF

ทั้งนี้พบว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงจะนิยมลงทุนในกองทุนรวมมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า คือ มีเพียง 25% ของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์ต่อปี ลงทุน ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 ดอลลาร์ต่อปี จะลงทุนในกองทุนรวมถึง 66% และหากเจาะลึกเข้าไปดูกลุ่มที่มีรายได้สูงนี้ หากดูไปที่กลุ่มทีมีรายได้เกินกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อปี จะพบว่า มีถึง 80% ที่มีการลงทุนในกองทุนรวม โดยส่วนใหญ่มีความมั่นใจและพึงพอใจกับการลงทุนผ่านกองทุนรวมค่ะ

ทั้งนี้ 52% ของผู้ลงทุน มีอายุระหว่าง 35-64 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน  โดย 43%ของกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มีการลงทุนในกองทุนรวม และสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น คือ กลุ่มอายุ 45-64 ปี มีการลงทุนในกองทุนรวม 56% และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป มีการลงทุนถึง 57% โดยผู้ลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อเป้าหมายในการเกษียณ

กองทุนรวมมีบทบาทต่อตลาดทุนโลกมากขึ้นทุกวัน โดยมูลค่าของกองทุนรวม ที่จดทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแล (เช่น ประเทศไทยมีสำนักงาน ก.ล.ต.) ณ สิ้นปี 2564 ขึ้นไปสูงสุดที่ 70.9 ล้านล้านดอลลาร์ และตกลงมาในปีล่าสุด คือปี 2565 มีกองทุนรวมทั่วโลกจำนวนรวม 137,892 กองทุน มูลค่าเงินลงทุน 60.1 ล้านล้านดอลลาร์

โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุน (หุ้นทุน) 26.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 45% ของกองทุนรวมทั้งหมด ลงทุนในตราสารหนี้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 19% ลงทุนในตลาดเงิน (Money Market Fund) 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 15%  ลงทุนในนโยบายผสม (มีทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้) 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 12% และลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารอื่นๆ อีก 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 9%

จากข้อมูลพบว่า ในปี 2565 กองทุนรวมเข้าถือหุ้นและตราสารหนี้ในตลาดต่างๆทั่วโลก โดยมีสัดส่วนถึง 26% ของตลาดทุนโลกซึ่งมีขนาด 233.3 ล้านล้านดอลลาร์ 

ปี 2565 ที่ทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ตกลงมามากเป็นประวัติการณ์ มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนรวมทั่วโลกถึง 717,972 ล้านดอลลาร์ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ตกลงไปอย่างมาก

ข้อมูลเงินไหลเข้าออกกองทุนของสหรัฐมีการแยกแยะประเภทของกองทุน จึงสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ดีกว่า ในปี 2565 เงินไหลออกจากกองทุนรวมของสหรัฐสุทธิ 507,101 ล้านดอลลาร์ โดยออกจากองทุนหุ้นทุนสุทธิ 53,522 ล้านดอลลาร์ ออกจากกองทุนผสม 106,626 ล้านดอลลาร์ และออกจากองทุนตราสารหนี้ 225,417 ล้านดอลลาร์

ในปี 2566 นี้ เงินลงทุนไหลเข้ากองทุนรวมสหรัฐในช่วงต้นปี แต่หลังจากนั้นก็ไหลออก โดยเงินไหลออกจากกองทุนผสม ไปเข้ากองทุนตลาดเงิน ในปลายไตรมาสแรก และออกจากกองทุนรวมหุ้นทุน ในไตรมาสที่สอง เรื่อยมาจนถึงไตรมาสที่สาม และเดือนตุลาคม รวม 10 เดือนมียอดเงินไหลออกจากกองทุนรวมสหรัฐสุทธิ 128,476 ล้านดอลลาร์ โดยไหลออกจากกองหุ้นทุน 171,085 ล้านเหรียญ เป็นกองหุ้นที่ลงทุนในสหรัฐ 159,797 ล้านดอลลาร์ และลงทุนในตลาดอื่นๆในโลก 11,947 ล้านดอลลาร์ ไหลออกจากกองทุนผสม 94,134 ล้านดอลลาร์ และออกจากกองทุนที่ลงทุนในโภคภัณฑ์ 8,083 ล้านเหรียญ ส่วน กองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนประเภทเดียวที่มีเงินลงทุนไหลเข้า 149,384 ล้านดอลลาร์ ในสิบเดือนที่ผ่านมา 

ในสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย.เงินลงทุนเริ่มไหลเข้ากองทุนของสหรัฐแล้วค่ะ ทั้งกองทุนหุ้นทุนและกองทุนตราสารหนี้ แต่ไหลเข้าเฉพาะในกองทุนตลาดทุน (ETF)  โดยไหลเข้ากองทุนหุ้น 6,501 ล้านดอลลาร์ ในหนึ่งสัปดาห์ โดยเข้ากองทุนที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐ 7,161 ล้านดอลลาร์ และออกจากกองทุนที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดสหรัฐ (หุ้นโลก) 659 ล้านดอลลาร์ ออกจากกองทุนผสม 544 ล้านดอลลาร์ และเข้ากองพันธบัตร 7,775 ล้านดอลลาร์ เราจึงเห็นตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของสหรัฐเริ่มฟื้นตัวในเดือนพ.ย.นี้

เขียนมาเสียยืดยาวเพื่อจะแสดงว่า กองทุนรวมและกองทุนตลาดรองทั่วโลก ซึ่งมีขนาด 60.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,134 ล้านล้านบาท มีอิทธิพลต่อตลาดทุนมากเพียงใด เมื่อผู้ลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน ก็สามารถทำให้ราคาหลักทรัพย์ในตลาดปรับไปได้ เฉกเช่นกองทุนส่วนบุคคล กองทุนบำนาญ และกองทุนของสถาบันต่างๆ รวมถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐที่มีเงินลงทุนขนาดใหญ่เช่นกันค่ะ จริงๆแล้ว ผู้ลงทุนรายย่อย เมื่อลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็จะถือเป็นผู้ลงทุนสถาบันไปโดยปริยายค่ะ

 

เมื่อดูภาพรวมของการลงทุน พบว่าในปัจจุบันผู้ลงทุนบุคคลมีบทบาทมากขึ้น ทั้งในตลาดแรก (การเสนอขายหลักทรัพย์กับประชาชนครั้งแรก) และในตลาดรอง และยังลามไปถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาด หรือ Private Equity ด้วย

 

บริษัทที่ปรึกษา Indefi ประมาณว่า ในปี 2564 สัดส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทุนโลก คิดเป็นประมาณ 52% ในขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันมีสัดส่วนประมาณ 31% และคาดว่า ในปี 2573 สัดส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยจะเพิ่มเป็น 61% ขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันลดลงเป็น 26%