ส่องปัจจัยสำคัญของการลงทุนในอาเซียน - ตอนที่ 2

ส่องปัจจัยสำคัญของการลงทุนในอาเซียน - ตอนที่ 2

ในสัปดาห์ก่อนเราพูดกันถึงปัจจัยสำคัญๆ ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำนวนและโครงสร้างประชากรที่จะมีส่วนสำคัญต่อทิศทางของเศรษฐกิจและการลงทุนกันไปแล้ว สัปดาห์นี้เรามาต่อกันกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภายในและแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ากันครับ

การเปลี่ยนแปลงภายในยังมีหลายประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของการเติบโตของการใช้ดิจิทัล (Digital Connectivity) เช่น แพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ลดต้นทุนภาคธุรกิจ เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาการ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรรมหลายๆ ส่วน เช่น ภาคการผลิตหรือแม้แต่ภาคการเงิน เป็นต้น

โดยจากรายงานของ JP Morgan พบว่าประชาการที่ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนนั้นมีทั้งหมด 260 ล้านคนเมื่อปี 2015 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 360 ล้านคนในปี 2016 และ 460 ล้านคน ณ สิ้นปี 2022 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอาจจะเพิ่มขึ้น 6 ถึง 10 เท่าจากมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์  ในปี 2019 เป็น 6 แสนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2030

 

นอกจากนี้ยังมีประชากรอีกราว 200 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบัญชีธนาคารขั้นพื้นฐาน สินเชื่อ หรือการบริการทางด้านการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งแนวโน้มการเข้าถึงบริการทางการเงินเหล่านี้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นแรงหนุนในกลุ่มสถาบันการเงิน การบริโภคในประเทศ

รวมถึงการพัฒนาของตลาดการเงินได้เป็นอย่างดี โดยการเติบโตของการบริโภคในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการพึ่งพาภายนอกให้น้อยลง และจะช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ Megatrend ที่จะมีส่วนสำคัญอย่างมากของการเติบโตในภูมิภาคในช่วงทศวรรษข้างหน้า

ในส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจใน 2024 เศรษฐกิจอาเซียนยังคงมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดีโดยคาดว่าจะเติบโต 4.5% เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.2% โดยในปี 2023 เป็นปีที่เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปรกติและขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ส่วนใหญ่จะขยายตัวได้ดีจากเรื่องของการฟื้นตัวหลัง COVID-19 และมีทิศทางที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 เช่น เวียดนามคาดว่าจะเติบโต 5.8%

ในปีหน้า 6.9% ในปี 2025 เทียบกับปีนี้ที่ 4.7% อินโดนีเซียที่ 5.0% ต่อเนื่องในสองปีข้างหน้าเทียบกับปีนี้ที่ 5.0% เช่นกัน ในส่วนของไทยคาดว่าจะขยายตัว 3.2% ในปีหน้า และ 3.1% ในปี 2025 เทียบกับปีนี้ที่ 2.7% (การประมาณการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ข้อมูล เดือน ตุลาคม 2023) ส่วนเงินเฟ้อมีแนวโน้มคงที่ในช่วง 2.5% ถึง 2.6%

ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะช่วยเป็นแรงหนุนให้กับเศรษฐกิจ นโยบายการเงินที่น่าจะผ่อนคลายลงต่อเนื่อ หลังจากประเทศส่วนใหญ่ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในช่วงก่อนหน้า และเงินเฟ้อของประเทศหลักๆ นั้นกลับมาอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวของธนาคารกลางแล้ว ยกเว้นประเทศฟิลลิปส์ที่ยังคงอาจจะมีแรงกดดันจากราคาของสินค้าโภคภัณฑ์บางส่วน ส่วนเรื่องของเสถียรภาพภายนอก

โดยรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากสัดส่วนเงินสำรองทางการต่อมูลค่าสินค้านำเข้า (International Reserves / Imports) นั้นอยู่ในช่วง 7-8 เดือน และสัดส่วนหนี้ระยะสั้นต่างประเทศเมื่อเทียบกับระดับเงินสำรองทางการนั้นก็อยู่ในช่วง 30-40% ซึ่งจัดได้ว่ามีความแข็งแกร่งในส่วนนี้ ทำให้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพต่างประเทศ แม้ค่าเงินภูมิภาคจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีล่าสุด

ในส่วนของตลาดการเงิน แม้ปี 2023 จะเป็นปีที่ไม่ดีนักของการลงทุนในอาเซียน โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี ดัชนี Vietnam Ho Chi Minh Stock Index (VNI) ให้ผลตอบแทนดีสุดที่ 3.5% โดยในระหว่างปีการปรับสูงขึ้นกว่านี้มากก่อนจะค่อยๆ ปรับลดลงจากความเสี่ยงเฉพาะภายในประเทศ ในขณะที่ดัชนีสำคัญๆ ปรับตัวลดลงในกรอบแคบ เช่น ดัชนี Jakarta Stock Exchange Composite Index (JCI) -1.70% Philippines Stock Exchange Index (PSEi) -9.20% และ FTSE Bursa Malaysia KLCI index (KLCI) -3.80%

แต่หากพิจารณาในระยะยาวจะพบว่าการลงทุนในหลายๆ ตลาดยังคงมีความน่าสนใจในระดับสูง เช่น ดัชนี VNI ที่ 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราวๆ 10% ใกล้เคียงกับ S&P500 ของสหรัฐฯ และ NIKKEI225 ของญี่ปุ่น และสูงกว่าดัชนี CSI300 ของจีน โดยมีความผันผวนที่น้อยกว่าด้วย

ดัชนี JCI ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 5% สูงกว่าดัชนี Europe STOXX600 และมีความผันผวนน้อยกว่า หรือแม้แต่ดัชนีที่ผลตอบแทนอาจจะไม่หวือหวาเช่น SET Index ของไทย หรือ PSEi ของฟิลลิปินส์ แต่หากพิจารณารายอุตสาหกรรมก็จะพบว่ามีหลายๆ อุตสาหกรรมที่ยังคงให้ผลตอบแทนสูง ในขณะที่ค่าเงินมีทิศทางเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินบาท ทำให้ลดความผันผวนของการลงทุนได้ส่วนหนึ่งด้วย

อาเซียนจะน่าสนใจแค่ไหนคงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุน โดยการลงทุนนั้นสามารถทำได้หลากหลายทั้งจากการลงทุนที่เน้นลงทุนในกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก หรืออาจจะเลือกการลงทุนที่เน้นลงทุนในประเทศสมาชิกโดยตรง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือไทย

อกจากนั้นยังอาจจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีทิศทางดีสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้นโดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้

สุดท้ายนี้ การลงทุนในรูปแบบของพอร์ตฟอลิโอนั้นเหมือนผู้ลงทุนมีจิ๊กซอว์หลายๆ ชิ้นที่อาจจะใช้ในภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจิ๊กซอว์ที่ให้ผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว บางชิ้นอาจจะมีไว้เพื่อกระจายควาเสี่ยงลงบ้าง ซึ่งการลงทุนในกลุ่มอาเซียนเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญก็ได้ครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด