'ชาติศิริ' ยกไทยเป็นประตูหลักสู่อาเซียน เต็มไปด้วย 'ความหวัง' และ 'โอกาส'

'ชาติศิริ' ยกไทยเป็นประตูหลักสู่อาเซียน เต็มไปด้วย 'ความหวัง' และ 'โอกาส'

“ชาติศิริ โสภณพนิช” มอง "เศรษฐกิจไทย" ยังมี “ความหวัง” และเต็มไปด้วย “โอกาส” เสมอ หากดูภาพวันนี้ มีสัญญาณ "บวก" จากการลงทุนจากต่างประเทศได้กลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น

“ถ้าจะถามว่า “ยังมีความหวังอยู่หรือไม่” ผมเชื่อว่า ความหวัง ยังมีแน่นอน และมีอยู่เสมอ แม้กระทั่งในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่านี้ เช่น ช่วงที่เราเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักหน่วงมาก แต่ก็เพราะว่าเรามี “ความหวัง” จึงทำให้พวกเราร่วมกันต่อสู้ ดูแลปัญหา และผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจ จนสามารถก้าวข้ามมาด้วยกันได้”

​“ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เล่าให้ฟังถึง “มุมมอง” ของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ในโอกาสครบรอบ 36 ปี “กรุงเทพธุรกิจ” ภายใต้หัวข้อ Change the future today : เปลี่ยนประเทศไทยต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ 

โดยเขามองว่า เศรษฐกิจไทยยังมี “ความหวัง” และเต็มไปด้วย “โอกาส” เสมอ หากดูภาพเศรษฐกิจไทยวันนี้ มีสัญญาณบวกจากการลงทุนจากต่างประเทศได้กลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะสั้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และดิจิทัล

หากมองออกไปในระยะข้างยาว โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดสำคัญ ที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนในเอเชียของทุกคน

สอดคล้องกับทิศทาง หรือเทรนด์ที่วันนี้ เรากำลังพูดถึงเรื่องการเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค การขยายตัวของสังคมเมือง และดิจิทัลที่ต้องเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอำนวยความสะดวกในชีวิต รวมถึงการตื่นตัวเรื่องสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Change)

แต่ในมุม “อุปสรรค” เรามีเครื่องยนต์เศรษฐกิจยังไม่พร้อมใช้งานได้ทุกตัว โดยเฉพาะ “การส่งออก” ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60%ของจีดีพี และเป็นเครื่องยนต์หลักให้เรามาตลอด ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ภาคส่งออกจึงเป็นภาคที่ถูกกระทบ

แม้ “ส่งออก” จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าเศรษฐกิจ แต่อีกด้าน ก็นับเป็นช่วงเวลาที่ดี ควรจะฉวยโอกาสนี้ ในช่วงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเร่งผลิตให้ทันกับความต้องการสินค้า เพื่อกลับมา “ทบทวน” และปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีต้นทุนต่ำลง ให้เราสามารถรับมือกับเปลี่ยนแปลงจาก Digital Revolution ที่กำลังพลิกโฉมของโลก

ในมิติของ “โอกาส” ประเทศไทย มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน และเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการผลิต

ด้วยจุดแข็งเหล่านี้ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของประเทศไทย ทำให้เรามีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ ที่พร้อมเป็นประตูหลักสู่อาเซียน และศูนย์กลางการเดินทางที่เชื่อมต่อให้กับภูมิภาคนี้ เหล่านี้จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกมาก

ขณะเดียวกัน เห็นความพยายามที่จะเดินหน้าเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมให้กับประเทศไทยเช่นเดียวกัน ทั้งจากการร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ค้ารายสำคัญ 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วยตลาดการค้าเสรีที่เปิดกว้างขึ้นเพิ่มจากตลาดเดิมที่มีอยู่ในอาเซียน จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสริมให้ไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนจากทั่วโลกมากยิ่งขึ้น

ผลจากสงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจของโลก ยังกลายเป็นแรงส่งให้ “อาเซียน” กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อรองรับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน หรือ Value Chain ของอุตสาหกรรมต่างๆ จากทั่วโลก

และการที่ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีในหลายด้าน ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ที่ดึงดูดต่างชาติ บริษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น จากทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน แรงงานมีทักษะสูง ภาคอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสรรพ รวมทั้งท่าเรือที่รองรับการขนส่ง และศูนย์กลางการบินที่เชื่อมโยงไปได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก

“ชาติศิริ” ยกให้เห็นภาพว่า ที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตทางธุรกิจของ “ธนาคารกรุงเทพ” ที่เดินหน้ามาสู่การเป็น “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” ด้วยสินทรัพย์รวมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของอาเซียน มีสาขาครอบคลุม 9 ประเทศในอาเซียน 

อีกทั้ง ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยเพียงแห่งเดียวที่มีเครือข่ายต่างประเทศกว้างขวางที่สุดประมาณ 300 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก นับเป็นจุดแข็งของธนาคารที่มีความพร้อมสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน และญี่ปุ่น

“เราไม่ได้เป็นเพียงธนาคารที่มีเครือข่ายแข็งแกร่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเกต์เวย์ที่เชื่อมการค้าและการลงทุนทั้งภายในอาเซียนด้วยกัน รวมถึงเชื่อมต่อไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกอีกด้วย”

สำหรับ “อนาคตประเทศไทย” เขามองว่า การกำหนดแผนที่จะพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย หรือ New S-Curve Industries โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้คือ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

รวมไปถึง 5 อุตสาหกรรมอนาคต ที่เป็นโอกาสใหม่ เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ และการแพทย์ครบวงจร

หากเราเร่งพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 ได้เร็วขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต​

“ส่วนตัวผมยังเห็นว่าความท้าทายที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ ช่องว่างทางทักษะ ไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะระดับสูงสำหรับหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม Cloud Computing และ Internet of Things รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาทักษะของบุคลากรให้อยู่ในระดับสูงและมีปริมาณมากเพียงพอ”

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนรุ่นใหม่ในตลาดแรงงานลดลงอย่างมาก หลายอุตสาหกรรมเริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทน หมายความว่า เราต้องการคนที่มีทักษะในการใช้งาน และซ่อมบำรุงหุ่นยนต์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา จะต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะในระดับสูงให้มีจำนวนที่เพียงพอ

ในอีกมุมหนึ่ง ผู้บริโภค หรือสาธารณชนเองก็ “คาดหวัง” ว่า ภาคธุรกิจเองจะมีบทบาทในการร่วมชี้นำ ผลักดัน และลงมือทำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็นทางสังคม และการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล หรือ ESG

หลายบทบาท ที่ “ธนาคารกรุงเทพ” เดินหน้าไปแล้ว เพราะนี่คือ จุดสำคัญที่ธุรกิจการเงิน จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ 

​ทั้งใน มิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่ธนาคารร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนลูกค้าของลูกค้า หรือมิติด้านสังคม เพื่อหวังว่า จะร่วมเป็นหนึ่งองค์กรในการร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์