‘ขัตติยา’ แนะเร่ง Rethink Reform ยกขีดความสามารถ ‘เศรษฐกิจไทย’

‘ขัตติยา’ แนะเร่ง Rethink Reform ยกขีดความสามารถ ‘เศรษฐกิจไทย’

“ขัตติยา อินทรวิชัย” เปรียบเทียบให้เห็นภาพ "เศรฐกิจประเทศไทย" วันนี้ ว่า เหมือนรถยนต์ หรือ รถแข่ง ที่อาจถูกเพื่อน หรือหลายประเทศแซงไปแล้ว

“ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย เป็นอะไร คงเหมือนรถยนต์ ที่มีหน้าที่พาคนหรือสิ่งของไปอีกที่หนึ่งได้ หรือเปรียบเป็นรถแข่ง ที่วันนี้เราอาจถูกเพื่อนบ้านแซงไปบ้างแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เราไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด แปลว่าเราต้องมาคิดใหม่ ว่ารถคันนี้จะต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนพลังงานที่ใช้ใหม่หรือไม่ เพื่อให้รถคันนี้สามารถบรรทุกคนได้มากขึ้น และเพื่อไปสู่จุดหมายได้เร็วขึ้นด้วย”

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปรียบเทียบให้เห็นภาพเศรฐกิจประเทศไทยวันนี้ ว่า เหมือนรถยนต์ หรือ รถแข่ง ที่อาจถูกเพื่อน หรือหลายประเทศแซงไปแล้ว ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนตัวเองไม่ใช่ยังคงขับรถไปซ่อมไป

การที่จะทำให้รถของประเทศไทยวิ่งได้ ต้องมีการใช้นวัตกรรมค่อนข้างมาก และเพื่อให้รถของประเทศไทยสามารถไปได้จำเป็นที่ต้อง Rethink Reform เพื่อหาโมเดลใหม่ให้กับรถคันนี้ หรือหาอนาคตใหม่ให้กับประเทศ เพื่อพาเราทุกคนไปสู่จุดที่ดีขึ้นเร็วขึ้น

แน่นอนโจทย์ในการพัฒนาประเทศไทยจะเจอโจทย์ที่ “ยากขึ้น” ทั้งเรื่องของโครงสร้างประชากรของไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีอัตราการเกิดลดลง หรือโจทย์จากภายนอก จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า รวมถึงเรื่องการปรับตัวไปสู่ Sustainability หรือ ความยั่งยืนที่ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัว

 

รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทย เพราะทุกวันนี้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเก่งมากขึ้น และมีการแข่งขันสูงขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคุณภาพของคน เรื่องการศึกษา และการพัฒนาผลิตภาพของแรงงานของไทย ที่วันนี้ไทยอยู่ระดับไม่สูง หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

“เรามีโอกาส แต่เราก็มีความท้าทาย ในสภาวะแวดล้อมในการพัฒนาประเทศ หรือจากกลไกของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเตรียมประเทศไทยให้พร้อมคือ พื้นฐาน เราต้องแกร่ง ต้อง Resilience ต้องยืดหยุ่น ไม่ว่าสภาพข้างนอกเป็นอย่างไรเราต้องอยู่ให้ได้”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโจทย์เกี่ยวกับ “สถานะภาคการคลัง” โจทย์ของงบประมาณภาครัฐที่มีความต้องการใช้งบสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงที่เกี่ยวกับการดูแลค่าครองชีพ ที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องตอบโจทย์ ฉะนั้น มีประเด็นให้ทำค่อนข้างมาก ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด ดังนั้นภาครัฐต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนทำให้ตรงประเด็น

“ขัตติยา” เชื่อว่า โอกาสใหม่ๆของประเทศไทย ยังมี แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือน หนึ่งปี สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องทำ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

หากดูเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทย หลักๆ คือ ส่งออก การท่องเที่ยว ถือเป็นพระเอกของไทยมานานตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ที่มีส่วนทำให้จีดีพีของไทยเติบโตมากกว่า 3% ต่อเนื่องได้ แต่สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะข้างหน้า จำเป็นต้องมี “พระเอกตัวใหม่” เพิ่มขึ้นอีกหลายตัว เพื่อสนับสนุนการเติบโต 

เช่น การสนับสนุน Healthcare อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ และทำได้ดีและเก่งมาโดยตลอด หรือเรื่องของรถยนต์ ที่ต้องสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตมาไทย รวมถึงฐานรถยนต์อีวี เพราะประเทศไทยมีจุดแข็ง เรื่องทักษะ สกิลของวิศวกรเก่งๆ และหากมองไกลไปกว่านั้น คือการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เอไอ การใช้ดาต้าต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย

“สำหรับประเทศไทย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค หากย้อนกลับไปดูจีดีพีของไทย ถอยหลังไป 10ปี วันนี้เราไม่ได้นำเพื่อนบ้าน หรือจะเรียกว่า Lost Decade คือ 10ปี ที่หายไปเลย ทั้งจีดีพีและรายได้ต่อหัว เพื่อนบ้านเราเขาแซงไปแล้ว แม้เราก็วิ่ง แต่เพื่อนๆวิ่งเร็วกว่า”

หากดูปัจจัยที่ถ่วงเศรษฐกิจไทย แม้ คะแนนจาก Ease of doing business ไม่ได้ต่ำหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ที่เข้ามาในไทยไม่มาก สะท้อนว่าความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือมาตรการด้านการค้าเป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวน เพื่อช่วยให้ประเทศเดินหน้าได้

“ขัตติยา” เล่าให้ฟังถึงมุมมอง “ธนาคาร” ในระยะข้างหน้า เขายกคำพูดของ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ “บิลล์ เกตส์”ที่มองว่า แบงก์จะไม่สำคัญอีกต่อไป แต่ธุรกรรมการเงินยังสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ที่ไม่อยากมาสาขา ไม่อยากเจอพนักงานแบงก์ เพราะโควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น จะทำอย่างไรให้แบงก์ฝังไปอยู่ในชีวิตของลูกค้า สามารถเข้าใจบริบท เข้าใจชีวิตของลูกค้า และทำให้ธุรกรรมการเงินตอบโจทย์ทุกความต้องการลูกค้าได้

ในมุมของการทรานฟอร์ม ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย มีการทรานฟอร์มมาโดยตลอด ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่แบงก์มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน Re-engineering หลังจากต้มยำกุ้ง แบงก์มีการปรับเปลี่ยนองค์กรไปเป็นองค์กรที่เน้น Customer focus , customer orientation แบงก์ที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นหลัก

รวมไปถึง การปรับเปลี่ยนองค์กรในเรื่องของเทคโนโลยี ที่แบงก์มีการแยก KBTG หรือ กสิกรบิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป ออกมาจากแบงก์ เพื่อเป็น “หัวหอก” ในการเปลี่ยนเรื่องนวัตกรรม เปลี่ยน วัฒนธรรม Culture เปลี่ยน Mindset ทัศนคติ ในเรื่องดิจิทัล หรือเอไอ

และสิ่งที่แบงก์พูดตลอดคือ  Transform without losing our soul จิตวิญญาณของเราก็ยังเป็นเคแบงก์ ที่ต้องการเป็นแบงก์ที่ Step Ahead ผู้ที่เดินไปข้างหน้า และ A Pioneer forever เป็นผู้ที่บุกเบิกทางก่อนเสมอ

นอกจากนี้ “ขัตติยา” ยังบอกด้วยว่า ถ้าให้มองภาพกสิกรไทยในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า เธออยากให้ธนาคารเป็น Regional Financial Service provider ที่มีความหมายกับภูมิภาค

และต้องการให้สถาบันการเงินเป็นที่น่าเชื่อถือ ทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ ดูแลเงินของลูกค้าให้ปลอดภัย เป็นผู้ทำทรานเซกชันทางการเงินของลูกค้าให้สำเร็จและปลอดภัยที่สุดในการทำธุรกรรมการเงินที่ครอบคลุมภูมิภาค หรือ AEC+3