Bonds to Beat the Stocks? It depends on Inflation

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ตลาดการเงิน และการลงทุนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสลาเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนต.ค.และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ได้มีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลถึงผลกระทบโดยเฉพาะกลุ่มชาติอาหรับ และตะวันออกกลางซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็จะกลับมาเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้คงอยู่ระดับสูง แล้วจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนั้นจะยังอยู่สูงยาวนานกว่าที่เคยคาดหรือ High for Longer ส่งผลให้ในเดือนที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

 โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปีปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.57% ขึ้นไปที่ทำจุดสูงสุดที่ระดับ 5% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 16ปี ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 20 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.89% ไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 5.4%

ซึ่งอย่างที่นักลงทุนทราบกันดีกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลนั้นจะผกผันกับราคาทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ในภาพรวมนั้น เกิดการติดลบนับตั้งแต่ต้นปี 3.38% ซึ่งเป็นการติดลบเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เก็บข้อมูล (แหล่งข้อมูลอ้างอิงจากดัชนี Bloomberg Global Aggregate Index ปี 1989 ถึงปัจจุบัน)

อัตราผลตอบแทนที่สูงสุดในรอบ 16 ปีนี้ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพดีนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังมีการเปรียบเทียบกับ Earning yield หรือผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นที่คำนวณด้วยกำไรต่อหุ้นหารด้วยราคาหุ้น ซึ่งโดยปกติจะมีอัตราที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ซึ่ง ณ ปัจจุบันนั้นมีระดับที่เท่ากันแล้ว

มากไปกว่านั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นประวัติการณ์ ก็มีโอกาสที่จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะกลับมาลดลงได้ ก็จะทำให้ราคาตราสารหนี้คุณภาพดีเพิ่มขึ้นได้ในช่วงข้างหน้า ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจในการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงจากตราสารหนี้คุณภาพดีใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงหรือจุดอ่อนที่สำคัญต่อมุมมองการลงทุนนี้คือ ต้องคาดหวังว่าจะได้เห็นเงินเฟ้อนั้นลดลงต่อเนื่องลงไประดับก่อนเกิด pandemic ที่ระดับ 2% ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในท้ายที่สุด

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ของจูเลียส์แบร์ยังคาดว่าภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมากว่า 40 ปีนั้นยังคงอยู่ แต่เรากำลังเข้าสู่ช่วงภาวะเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ระดับ 3%-4% เพราะว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นรอบนี้เกิดจากด้านอุปทานรวมถึงไปตลาดแรงงานที่ตึงตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศและความต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งทำให้เกิดการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงจากกลุ่ม OPEC เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันให้คงอยู่สูง

ทั้งนี้นักลงทุนที่มีมุมมองเช่นเดียวกันว่า เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง ควรจะยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ โดยเฉพาะหุ้น Value stock เนื่องจากรองรับความผันผวนได้ดีกว่าหุ้นที่มีระดับมูลค่าที่แพง เพราะยังให้ความสำคัญกับการสร้างกระแสเงินสด อีกทั้งบริษัทในกลุ่มนี้มักจะมีการเติบโตของกำไรที่มีคุณภาพจากความสามารถในด้านการตั้งราคา เนื่องจากสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการในช่วงที่เงินเฟ้อสูงทำให้ยังคงที่จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

จากที่อธิบายในข้างต้น เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพถึงความสำคัญของเงินเฟ้อนั้น มีบทบาทสำคัญที่กำหนดทิศทางว่าสินทรัพย์ใดจะมีความน่าลงทุนกว่ากัน อย่างไรก็ตามการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องที่ยาก แม้กระทั่งธนาคารกลางเองก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง แต่เรายังคงประเมินว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 3%-4% มากกว่าที่จะลงไปอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งทำให้เรายังมองว่าการลงทุนในหุ้นจะยังมีโอกาสให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้

 นอกจากนี้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา หุ้นสหรัฐฯ นั้นให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้เมื่อเงินเฟ้อนั้นสูงกว่า 2% นับตั้งแต่เดือนก.พ.2021 อย่างไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจเติบโตลดลง และเงินเฟ้อลดลงต่อก็จะช่วยหนุนให้ตราสารหนี้คุณภาพดีมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ 

ดังนั้นเราแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Barbell strategy ทั้งในส่วนของการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ โดยในตราสารหนี้เราจะให้น้ำหนักทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งในช่วงที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูงและในช่วงที่อัตราผลตอบแทนเริ่มมีการปรับลดลง สำหรับหุ้นยังคงเน้นที่หุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตและคุณภาพประกอบกับกลุ่มหุ้น Defensive

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่าน