ทางรอดการลงทุน ท่ามกลางภาวะสงครามในตะวันออกกลาง

ทางรอดการลงทุน ท่ามกลางภาวะสงครามในตะวันออกกลาง

ต้องยอมรับว่าความเสี่ยงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกของการลงทุน ในปีนี้ก็มีความเสี่ยงรอบด้านที่ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทเผชิญความผันผวนอย่างหนัก

แม้จะไม่มากเท่ากับปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ล่าสุดปรับตัวลงจากจุดสูงสุดของปีราวๆ -10% ด้านตราสารหนี้ที่ขึ้นชื่อว่าผันผวนต่ำก็ถูกกดดันหลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ยังทรงตัวในระดับสูง ด้านสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน ราคาก็ผันผวนขึ้นลงตามข่าวรายวัน ตลอดจนทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แม้จะให้ผลตอบแทนดีในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านี้ก็ถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ

ความเสี่ยงหลักในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส กองกำลังติดอาวุธในปาเลสไตน์ ที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้น หลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวและจับตัวประกันไปกว่า 200 คนในช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสทำให้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งทะยานขึ้น

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอล แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะเห็นความพยายามจากนานาประเทศในการเจรจาทางการฑูตเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสงคราม แต่สถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงรายวัน ด้วยสงครามระหว่าง 2 ฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเมินได้ค่อนข้างยากว่าจะจบลงเมื่อไหร่และอย่างไร

นอกจากนั้นภาวะดอกเบี้ยสูงก็ยังเป็นความเสี่ยง เพราะค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนผลการดำเนินงานธุรกิจ อีกทั้งยังเพิ่มภาระดอกเบี้ยเงินกู้แก่ภาคครัวเรือนซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการบริโภคได้ จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ครั้งล่าสุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แม้ FED จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% แต่ก็ยังไม่ได้ปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย โดยการตัดสินใจขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจ ดังนั้นหากข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อ ออกมาสูงกว่าคาด FED ก็มีโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปหากมีความจำเป็น 

นักลงทุนควรทบทวนแผนการลงทุน โดยยึดหลักการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนที่หลากหลายและปรับพอร์ตเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น โดยสัดส่วนเงินลงทุนหลัก หรือ Core Portfolio ควรอยู่ในกองทุนผสมที่บริหารความเสี่ยงในแต่ละสินทรัพย์หลักแบบสมดุล (Risk-based Allocation) ผ่านการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน และเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งคือ Satellite Portfolio ลงทุนทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Hedge Funds สำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนระยะยาวและไม่ต้องการสภาพคล่องในช่วง 7-10 ปี สามารถแบ่งเงินลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์นอกตลาด

ในส่วนของหุ้นแนะนำกระจายลงทุนในหุ้นทั่วโลก  โดยเน้นไปที่บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงตามกระแสการเปลี่ยนแปลงหลักของโลกช่น กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของหุ้นในบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยสูงด้วย รวมทั้งการลงทุนในหุ้นจีนและหุ้นไทยที่มีความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากปรับตัวลงมามากจากปัจจัยในประเทศ

บอนด์ยีลด์ทั่วโลกเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีได้จากดอกเบี้ยรับที่อยู่ในระดับสูงและโอกาสจากราคาที่จะเพิ่มขึ้นหากบอนด์ยีลด์ลดลงในระยะข้างหน้า แนะนำกระจายลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภททั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชน  โดยเน้นไปที่หุ้นกู้บริษัทเอกชนในเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และที่สำคัญแนะนำเติมเต็มพอร์ตการลงทุนด้วยสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Hedge Funds ในหลากหลายกลยุทธ์เช่น Long/Short ในหุ้นหรือสกุลเงิน เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ และการจัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ คือหัวใจสำคัญที่จะพานักลงทุนผ่านความผันผวนในทุกสถานการณ์ได้