คลังรับต้นทุนพอร์ตเงินกู้รัฐพุ่ง ล่าสุดอยู่ที่ 3%

คลังรับต้นทุนพอร์ตเงินกู้รัฐพุ่ง ล่าสุดอยู่ที่ 3%

คลังรับต้นทุนพอร์ตเงินกู้รัฐบาลพุ่ง หลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่กว่า 3% จากสิ้นเดือนส.ค.อยู่ที่ 2.6%  ด้านนายกรัฐมนตรีสั่งสบน.ศึกษาแผนออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศเพื่อทดสอบตลาดและสร้างดอกเบี้ยอ้างอิงให้เอกชน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลได้ทยอยปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของตลาดทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยในตลาดโลก โดยต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยของรัฐบาลน่าจะปรับเพิ่มเป็น 3% ต้นๆ

 

“หลายปีที่ผ่านมา ต้นทุนการเงินของรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ เพราะดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำมานานแต่ระยะที่ผ่านมา ดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลปรับเพิ่มตามไปด้วย ก็หนีไม่พ้น ทั้งต้นทุนเงินกู้ของรัฐบาลและต้นทุนเงินกู้ของภาคเอกชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เดือนส.ค.2566 ต้นทุนการกู้เงินของพอร์ตเงินกู้รัฐบาลอยู่ที่ 2.66% ต่อปี ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ฉะนั้น จึงจะส่งผลให้ต้นทุนเงินกู้ของรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น

ณ สิ้นเดือนส.ค. 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะอยู่ 11.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.78% ของจีดีพี เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 9 ล้านล้านบาท หรือ 81.81% ของหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีแผนการชำระหนี้วงเงินรวม3.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นแผนการก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาท และการบริหารหนี้เดิม 1.6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท

รมช.คลังยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ไปพิจารณาแผนการออกบอนด์ต่างประเทศ  เพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง(Bench Mark)ในการออกไประดมเงินทุนต่างประเทศของภาคเอกชน

“ท่านนายกฯได้พูดว่า เราควรจะ Explore ตลาดต่างประเทศบ้าง เพื่อเป็น Bench Mark ให้กับภาคเอกชนและนานแล้ว 20-30 ปีที่เราไม่ได้ไปตลาดต่างประเทศเลย เราต้องเร่งสร้างจุดยืนในเวทีโลกท่านก็เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ”

เขากล่าวเชื่อว่า แม้การออกไประดมเงินในตลาดต่างประเทศดังกล่าวจะออกไปเพื่อเป็นการทดลองตลาด  ซึ่งเชื่อว่า ออกเท่าไหร่ก็จะขายได้หมด แต่สำหรับระยะเวลาที่เราจะไปออกนั้น เราก็ต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่จะทำเลย เพราะเราต้องดูเรื่องกรอบต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ ไม่ให้เป็นผลทางลบกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ยังบอกไม่ได้ทั้งในแง่วงเงินที่จะออกรวมถึงสกุลเงินที่จะออก แต่เป็นบอนด์เงินตราต่างประเทศอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 สบน.มีแผนจะออกบอนด์เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability Linked Bond จำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 7 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ขณะนี้ มีนักลงทุนได้แสดงความจำนงในการเข้าซื้อบอนด์ดังกล่าวแล้ว