สศค.ชี้ครัวเรือนไทยเผชิญความเปราะบางทางการเงินสูง

สศค.ชี้ครัวเรือนไทยเผชิญความเปราะบางทางการเงินสูง

สศค.ชี้ไทยเผชิญความท้าทายจากสังคมผู้สูงอายุ ท่ามกลางเงินออมไม่เพียงพอ พฤติกรรมส่วนใหญ่พบการก่อหนี้ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายครัวเรือนมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายและมีความเปราะบางทางการเงินสูง พร้อมแนะทางออกเพิ่มทักษะทางการเงิน ในงานเสวนาประจำปี 20 ต.ค.นี้

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เตรียมเสนอผลงานวิชาการหัวข้อ “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ขณะที่ ประชาชนจำนวนมากยังมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังและมีการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายครัวเรือนมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายและมีความเปราะบางทางการเงินสูง

รวมถึง เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือป้องกันตนเองจากภัยที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินดังกล่าวได้ ดังนั้น การพัฒนาความรู้และทักษะทางการเงินจึงถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้

 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของโครงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินที่มีการดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบัน พบว่า หลายโครงการเป็นการดำเนินการในระดับพื้นที่ ในเขตภูมิภาคหรือจังหวัดต่างๆ ของประเทศ โดยมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายแตกต่างกันไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน

ผลงานวิชาการ เรื่อง แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน จึงเป็นการนำเสนอเครื่องมือในการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนนโยบายและการดำเนินการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 ของกระทรวงการคลัง และยังสามารถนำเครื่องมือการวิเคราะห์ดังกล่าวไปปรับใช้กับการจัดทำนโยบายการคลังและการเงินอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ผลงานวิชาการนี้เป็นการสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน โดยการศึกษาระดับทักษะทางการเงินเชิงพื้นที่ และการจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Financial Fundamental Index: SFFI) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อชี้วัดระดับการพัฒนาด้านรายได้และการใช้จ่าย การออมและการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงินในมิติต่าง ๆ เชิงพื้นที่

อีกทั้ง ผลงานวิชาการจะนำเสนอการระบุตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งวิเคราะห์ Cluster Analysis ซึ่งจะทำให้ทราบตำแหน่งและสภาพปัจจัยพื้นฐานทางการเงินของกลุ่มเป้าหมายของพื้นที่หนึ่งว่ามีลักษณะเกาะกลุ่มกับพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ อย่างไร

จากข้อมูลทั้งสามประเด็นข้างต้นจะทำให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มเป้าหมายและความพร้อมทางการเงินในมิติต่าง ๆ ในเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่บางส่วนของภาคอีสานและภาคเหนือที่มีความแตกต่างจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เปรียบเสมือนการสร้างแผนที่ทางการเงินของครัวเรือนไทยซึ่งมีความละเอียดลงลึกถึงระดับรายอำเภอ

นอกจากนี้ ผลงานวิชาการนี้จะเป็นการนำเสนอแบบจำลองการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาทักษะทางการเงิน ซึ่งแสดงด้วยดัชนีรวมผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาทักษะทางการเงิน ที่ถูกออกแบบให้ครอบคลุมตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่คาดหวังตามแผนปฏิบัติการฯ

ดังนั้น ผลการศึกษาจึงทำให้สามารถระบุได้ทั้งพื้นที่ที่ควรให้ความช่วยเหลือ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรได้รับการพัฒนา ซึ่งการนำเสนอผลงานจะจัดให้มี Dashboard ที่สามารถระบุทั้งกลุ่มเป้าหมาย ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงิน (SFFI) และดัชนีรวมผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาทักษะทางการเงิน เป็นรายอำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศไทย โดยจะมีการยกตัวอย่างอำเภอต่าง ๆ ว่ามีจุดอ่อนด้านใด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้แผนที่การเงินครัวเรือนไทยดังกล่าวเป็นเข็มทิศในการออกแบบนโยบายและนำการพัฒนาทักษะทางการเงินไปสู่ประชาชนได้อย่างเหมาะสมต่อไปได้อย่างไร

จากการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาทักษะทางการเงินและปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ข้างต้น ทำให้ผลงานวิชาการนี้สามารถนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการออกแบบการดำเนินการหรือโครงการพัฒนาทักษะทางการเงินโดยจัดลำดับความสำคัญเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ของแผนปฏิบัติการฯ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่สุขภาวะทางการเงิน (Financial well-being) หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

ทั้งนี้ โปรดติดตามรายละเอียดของผลงานวิชาการดังกล่าวในงานสัมมนา Fis and Fin Forum 2023 โดยสามารถรับชมผ่านทาง Facebook Live ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.fpo.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3635

สศค.ชี้ครัวเรือนไทยเผชิญความเปราะบางทางการเงินสูง