ข้อขัดแย้งอิสราเอล - ฮามาสกับผลกระทบต่อตลาดการเงินในเบื้องต้น

ข้อขัดแย้งอิสราเอล - ฮามาสกับผลกระทบต่อตลาดการเงินในเบื้องต้น

ปัจจัยเรื่องความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั้งทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสิ่งที่มักมาพร้อมกับความไม่คาดคิด

ซึ่งจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน และความเสี่ยงของการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เหมือนในปี 2022 ที่เราเห็นได้จากเรื่องของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบวงกว้างไปยังเศรษฐกิจ และตลาดการเงินทั่วโลกผ่านการส่งผ่านของราคาน้ำมัน และราคาสินค้าในกลุ่มธัญพืช 

แม้แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบของแรงส่งผ่านดังกล่าวในอัตราที่ไม่เท่ากัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่าประเด็นเรื่องของความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อขัดแย้งต่างๆ ก็ตาม โดยในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมาโลกเราเผชิญกับข้อขัดแย้งต่างๆ มากมายหลายครั้งทั้งจากเรื่องของประเทศตะวันตก กับกลุ่มตะวันออกกลาง ในกลุ่มตะวันออกกลางด้วยกันเอง กลุ่มโลกเสรีกับกลุ่มสังคมนิยม และประเด็นรุนแรงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัสเซีย-ยูเครน จีน ไต้หวัน หรือแม้แต่สหรัฐ กับจีน และยังคงมีทิศทางที่จะเป็นในลักษณะนี้ต่อเนื่อง

การโจมตีล่าสุดของกลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ที่มีต่ออิสราเอลนั้น อาจจะนำมาซึ่งจุดแตกหัก และก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ โดยแม้ในพื้นที่ฉนวนกาซานั้นจะมีบริเวณไม่มาก และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่สูง แต่สงครามก็อาจมีความยืดเยื้อต่อเนื่อง และนำมาซึ่งข้อขัดแย้งในลักษณะของสงครามตัวแทน หรือ Proxy War ระหว่างสหรัฐ ยุโรป กับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่มเติม ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน

โดยความรุนแรงของผลกระทบต่อตลาดการเงินก็จะขึ้นอยู่กับประเด็นนี้เป็นหลัก และต้องอย่าลืมว่าตลาดการเงินในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เผชิญกับแรงกดดันจากเรื่องของทิศทางของอัตราดอกเบี้ย และโอกาสในการคงดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ นานกว่าคาด (Higher for Longer) อยู่แล้ว

ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดการเงินในเบื้องต้นนั้นพอเห็นได้จากราคาทองคำ และราคาน้ำมัน โดยผลกระทบโดยตรงในเช้าวันจันทร์ ที่ 9 ต.ค.66 หลังจากการเปิดฉากโจมตีเริ่มขึ้นในวันเสาร์ ที่ 7 ต.ค.66 คือ ภาวะ Risk Off ที่ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กร้อยราว 1% ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นราว 4%

โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย.พุ่งแตะที่ระดับสูงกว่า 86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับราคาปิดเมื่อวันศุกร์ที่แล้วที่ 82.79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดัชนี Tel Aviv 35 ของอิสราเอลปรับตัวลดลงราว 7% ในขณะที่ผลกระทบในวงกว้างตอนนี้อาจจะยังมีจำกัดสะท้อนจาก Sentiment ของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ไม่ได้ปรับตัวลดลง แต่ยังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อวันศุกร์จากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางของดอกเบี้ยที่ลดลง

โดยสงครามหรือประเด็นข้อขัดแย้งต่างๆ ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมักจะนำมาซึ่งแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะลดทอนปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นลง ส่งผลให้หุ้นมักจะปรับตัวลดลงเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย โดยในรอบนี้อาจจะต้องคอยจับตาดูว่าประเด็นในปัจจุบันจะจบลงรวดเร็วหรือนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ระว่างอิสราเอล และประเทศอื่นๆ เช่น อิหร่านที่มีข่าวว่าให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสในการโจมตี หรือกรณีของสหรัฐ ที่หนุนหลังอิสราเอล ก็อาจจะทำให้ปัญหาเริ่มมีประเทศอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องได้

ทำให้ตลาดหุ้นในระยะสั้นก็น่าจะได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากเรื่องของความไม่แน่นอนดังกล่าวด้วย ในขณะที่ความเสี่ยงที่จะอาจจะส่งผลกระทบมากกว่านั้นคือ เรื่องของทิศทางของราคาน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังคงค่อนข้างอ่อนไหวต่อทิศทางเงินเฟ้อ ซึ่งราคาน้ำมันจะแปรผันตรงกับการคาดการณ์เงินเฟ้อ ไม่นับเรื่องของการจำกัดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC น้ำมันสำรองในสหรัฐ ที่ลดลง รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัวน้อยกว่าคาด ผลกระทบอีกช่องทางหนึ่งคือ การส่งผ่านกลุ่มบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลโดยตรง แต่ก็คาดว่าจะมีไม่มากนัก และส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวมค่อนข้างน้อย

ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าความรุนแรงของประเด็นเรื่องสงครามอาจจะยังดูจำกัด แตกต่างจากเรื่องของการบุกรุกยูเครนของรัสเซียในต้นปี 2022 เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลัก ในขณะที่อิสราเอลมีขนาดเศรษฐกิจ และผลกระทบที่น้อยกว่า แต่โดยรวมเราก็ยังคงไม่สามารถไว้วางใจได้ เนื่องจากปัญหาดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากการสู้รบ และจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งหากยังคงรุกรานรุนแรงอาจจะนำมาซึ่งประเทศหลักเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่การแสดงท่าทีสนับสนุนฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็อาจจะนำมาซึ่งมาตรการตอบโต้อย่างรุนแรงเพิ่มเติมของประเทศอื่นๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวผลกระทบอาจจะไม่จำกัดเท่าที่สะท้อนในราคาหลักทรัพย์ในช่วงต้นในปัจจุบัน

ข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นเป็นความเสี่ยงที่อาจจะมีลักษณะเป็น Tail Risk กล่าวคือ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่เหมือนเกิดขึ้นแล้ว อาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงได้ ซึ่งในฐาะนะนักลงทุนคงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังว่าปัญหาจะคลี่คลายโดยไวส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนให้น้อยที่สุดครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด


 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์