มี iPhone 15 แล้ว อยากมีส่วนกับหุ้น Apple สามารถลงทุนในลักษณะใดได้บ้าง

มี iPhone 15 แล้ว อยากมีส่วนกับหุ้น Apple สามารถลงทุนในลักษณะใดได้บ้าง

ดูเหมือนว่าการเปิดตัว iPhone 15 จะยังได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีทั้งในบ้านเราและในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนความนิยมในตัวผลิตภัณฑ์ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นจุดแข็งของ Apple ผู้ผลิตยังอยู่ที่เรื่องของความแตกต่างในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในเรื่องของฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการรวมถึงบริการอื่นๆ ให้เชื่อมโยงกัน ทำให้บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว แม้จะมีปรับขึ้นลงตามวัฏจักรของเศรษฐกิจบ้างในช่วงสั้น ดังนั้นหากเราเป็นเจ้าของ iPhone แล้วอยากจะลองเป็นเจ้าของหุ้น Apple (APPL) บ้าง ในฐานะนักลงทุนรายบุคคลจะมีทางเลือกใดบ้างในการลงทุนและแต่ละช่องทางแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โดยหุ้น Apple ปัจจุบันจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐฯ และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) อยู่ที่ 2.74 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. (เทียบกับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ 0.53 ล้านล้านดอลลาร์ โดยประมาณ) และมีระดับมูลค่าการซื้อขาย Forward Price-to-Earning (P/E) ในปัจจุบันอยู่ที่ 27.2 เท่า  เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ 23.3 เท่า 

 โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2023 หุ้น Apple ให้ผลตอบแทน 34.6% เทียบกับดัชนี NASDAQ Composite ที่ 30.1% และผลตอบแทนของการลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นราว 10.4 เท่า หรือคิดเป็นผลตอบแทน 27.6% ต่อปี (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ สิ้นวันที่ 15 ก.ย. 66) นอกจากนี้หุ้น Apple ยังเป็นหุ้นที่ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffet ถือไว้มากถึง 51% (ข้อมูลรายงาน ณ สิ้น มิ.ย. 66) ของพอร์ตฟอลิโออีกด้วย

สำหรับนักลงทุนรายบุคคล ทางเลือกในการเป็นเจ้าของหุ้น Apple นั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีข้อดีข้อเสียแตก รวมถึงรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจแตกต่างกันไป เริ่มจากง่ายและสะดวกที่สุดคือการลงทุนผ่านกองทุนรวมไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) หรือกองทุนรวมแบบ Active Fund โดยเฉพาะกองทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่อาจจะมีน้ำหนักการลงทุนในหุ้น Apple มากกว่าแต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงโดยรวมที่สูงกว่าเนื่องจากเป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (ความเสี่ยงระดับ 7) เมื่อเทียบกับกองทุนรวมตราสารทุนทั่วๆ ไป (ความเสี่ยงระดับ 6) 

โดยข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็คือความสะดวกและใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก แต่ข้อเสียก็คืออาจจะมีหุ้นอื่นอยู่ในกองทุนด้วยและน้ำหนักของหุ้นอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ทำให้แต่ละกองทุนก็จะให้ผลตอบแทนหลากหลายแตกต่างกันไป โดยเป็นที่น่าสังเกตุว่าในปีนี้กองทุนหุ้นเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงเนื่องจากมีการจำกัดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ แต่ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการลงทุนนั่นเอง

อีกช่องทางหนึ่งคือการลงทุนในหุ้น Apple โดยตรงซึ่งสามารถทำได้สองรูปแบบ ได้แก่ (1) ลงทุนโดยตรงในหุ้นผ่านบริการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นไทยมากนัก ทั้งทางตรงและผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงเรื่องของขนาดการซื้อขายและค่าธรรมเนียมที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และ (2) การลงทุนโดยตรงผ่านตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DRx (Fractional Depository Receipt) ซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นต่างประเทศได้บนกระดานซื้อขายตลาดหุ้นไทยในรูปของเงินบาท โดยที่ยังคงรูปแบบของผลตอบแทนได้เหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) เงินปันผล (Dividend) หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆที่เกิดจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ และมีลักษณะใกล้เคียงกับการซั้อหุ้นไทย โดยจะมีผู้ออก DRx ที่จะเป็นผู้ซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศมาเก็บไว้และนำมาเสนอขายให้กับผู้ลงทุนและจะหน้าที่เป็นผู้ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนผู้ลงทุนนั่นเอง 

โดยในบ้านเรามีทั้ง Depository Receipt (DR) และ Fractional Depository Receipt (DRx) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียด ซึ่ง DRx นั้นมีรายละเอียดและวิธีการซื้อขายที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากกว่า เช่น ขนาดของการลงทุน ช่วงเวลาของการซื้อขาย รวมถึงวิธีการซื้อขายด้วย นักลงทุนควรซื้อขายรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน และอีกประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของการคำนวณภาษีที่จะมีข้อแตกต่างกันระหว่างทางเลือกทั้งสองด้วย

ส่วนทางเลือกอื่นๆ ที่อาจจะพบเจอได้ในบางครั้งคือการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Structured Note) ที่ผลตอบแทนแปรผันกับราคาหลักทรัพย์ซึ่งอาจจะพบเจอได้ไม่บ่อยครั้งนัก และมีลักษณะของการจ่ายผลตอบแทนที่แตกต่างออกไปอย่างมากตามแต่ละลักษณะของตราสารซึ่งจะขึ้นอยู่กับผู้ออก ดังนั้นการลงทุนผ่านกองทุนรวมและการลงทุนโดยตรงจะดูเข้าใจง่ายกว่าเหมาะสำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มลงทุนหรือยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก

ทางเลือกต่างๆ นั้นมีความแตกต่างทั้งในเรื่องของรายละเอียดและข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งเหมือนกับการลงทุนโดยทั่วไปที่การลงทุนในแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป โดยเครื่องมือในการลงทุนเหล่านี้จะเหมาะสมกับจุดประสงค์การลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องศึกษาช่องทางการลงทุนให้ละเอียดรอบคอบก่อนการลงทุนอยู่เสมอครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด