‘ สรรพากร’ ชี้ เก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ ไม่ได้เป็นการ ‘เก็บภาษีทับซ้อน’

‘ สรรพากร’ ชี้ เก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ ไม่ได้เป็นการ ‘เก็บภาษีทับซ้อน’

สรรพากร ยันแผนเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ชี้ ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีที่ทับซ้อน หากใครมีการเสียภาษีที่ประเทศต้นทางที่มีอนุสัญญาร่วมกันอยู่แล้ว ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีที่ไทยเพิ่มอีก

       นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ออกประกาศให้บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

      ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และลดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี
 

        ทั้งนี้ ปัจจุบันบริบทการทำธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไป และกรมได้เข้าร่วมความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของภาคีเครือข่าย โดยประกาศดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 เพื่อยื่นจ่ายภาษีเงินได้ในปี 2568

         ยืนยันว่า ประกาศดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีที่ทับซ้อน หากใครมีการเสียภาษีที่ประเทศต้นทางที่มีอนุสัญญาร่วมกันอยู่แล้ว ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีที่ไทยอีก 
 

        "ประกาศตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ฉะนั้น กรมจะมีการเรียกหน่วยงานเข้ามาหารือรายละเอียด ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกรายละเอียดกฎหมายย่อยเพิ่มเติม และในระยะยาวจะมีการออกเป็นประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้ของกรม แต่เน้นการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี และกรมคาดว่าปีนี้จะจัดเก็บภาษีเกินเป้า 1.8 แสนล้านบาท"

        ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทบทวนเรื่องภาษีมรดกนั้น ขณะนี้กรมได้รับนโยบายแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษี ทั้งเรื่องอัตราการเก็บภาษี และโครงสร้างต่างๆ เพราะมีรายละเอียดหลายส่วน

         ทั้งนี้ เป้าหมายในการออกภาษีมรดกช่วงแรกอัตราภาษีไม่สูงนัก เนื่องจากช่วงนั้นเป็นภาษีใหม่ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และเกิดแรงต้าน และเมื่อปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป จึงจะมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม 

         ขณะเดียวกัน กรมจะไปศึกษา และดูรายละเอียดภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีเกี่ยวกับการให้ อาทิ การมอบ โอนสิทธิในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนแผนปฏิรูปภาษีในภาพใหญ่ของกรมนั้น จะต้องนำเสนอรัฐบาลอีกครั้ง

           นายลวรณ กล่าวว่า ความท้าทายในปี 2567 เศรษฐกิจภาพใหญ่ตัวเลขประมาณการปรับตัวลดลง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ อย่างไรก็ตาม จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยการใช้เทคโนโลยี และการใช้ไอเอเข้ามาตรวจสอบการภาษีที่ยังไม่ถูกต้อง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

            ทั้งนี้ กรมยังได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรสหวิทยาการ และรายวิชาด้านการจัดการและการจัดเก็บภาษีอากร ด้านการบริหารการจัดการ และการจัดเก็บภาษี แห่งแรกของไทย สำหรับวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าที่สรรพากร และผู้ที่สนใจ เนื่องจากที่ผ่านมา กรมมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียนรู้หลักสูตรที่ต่างประเทศ โควตา 3-5 คนต่อปี แต่ความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยให้สามารถเรียนรู้หลักสูตรนี้ได้เพิ่มขึ้นถึง 50 คนต่อปี 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์