“เกษตรกร - เอสเอ็มอี” ราว 7 ล้านราย เตรียมเฮ รัฐพักหนี้ทั้งต้น และดอก

“เกษตรกร - เอสเอ็มอี” ราว 7 ล้านราย เตรียมเฮ รัฐพักหนี้ทั้งต้น และดอก

คลังเตรียมพักหนี้ ”เกษตร - เอสเอ็มอี” ไม่เกิน 7 ล้านราย เร่งสรุปรายละเอียดภายใน 14 วัน เสนอ ครม.ต้นต.ค.นี้ แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทมั่นใจเสร็จตามกำหนด 1 ก.พ.นี้ เผยเตรียมใช้ฐานข้อมูลในแอปเป๋าตัง ต่อยอดโครงการ ด้าน ธ.ก.ส.ยืนยัน โครงการพักหนี้ ไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการประเมินว่า จะมีเกษตรกร และเอสเอ็มอีที่อยู่ในข่ายได้รับการพักชำระหนี้จากนโยบายของรัฐบาลไม่เกิน 7 ล้านราย แบ่งเป็น เอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านราย และ เกษตรกรประมาณ 4 ล้านราย อย่างไรก็ดี ในส่วนของเกษตรกรนั้น จะเน้นไปยังกลุ่มรายย่อยเป็นหลัก แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะกำหนดวงเงินการพักหนี้ที่เท่าใด โดยจะต้องคำนึงถึงงบประมาณที่จะมาชดเชยให้แก่โครงการนี้ด้วย

“ในหลักของการพักหนี้นั้น เราจะพักในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นรายย่อย และเอสเอ็มอี โดยไม่ต้องพิสูจน์ความทุกข์ยากใดๆ คาดว่า จะสรุปรายละเอียดได้ภายใน 14 วัน จากนั้น จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ราวต้นเดือนต.ค.นี้”เขากล่าวและว่า ทั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน ให้ตนเร่งพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทแก่ประชาชน และนโยบายการพักหนี้เกษตรกร และเอสเอ็มอี

เขากล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสองนโยบายดังกล่าว อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน เป็นต้น โดยเชื่อว่า แนวทางการพักชำระหนี้จะสามารถทำได้โดยไม่ติดขัด เนื่องจาก เป็นนโยบายที่หลายรัฐบาลได้เคยดำเนินการมาแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการดังกล่าวออกมาแล้ว ทางลูกหนี้จะต้องมาแสดงตัวเพื่อตอบรับเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายดังกล่าวแล้วเสร็จ นโยบายต่อไปที่จะดำเนินการคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินในกลุ่มสหกรณ์ ข้าราชการครู ตำรวจ และรวมถึง ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งกรณีนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการเช่นกัน เพื่อช่วยแก้ไข และลดภาระหนี้สินของประชาชนโดยรวม

สำหรับนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น ยืนยันว่า จะเร่งพิจารณารายละเอียดควบคู่ไปกับนโยบายพักหนี้ดังกล่าว เชื่อมั่นว่า จะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยประชาชนจะได้รับวงเงิน และใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ปีหน้าเป็นต้น ส่วนรายละเอียดในเรื่องแนวปฏิบัติการใช้จ่ายนั้น จะต้องหารือให้ชัดเจนก่อน ในเบื้องต้น สินค้าที่ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายได้คือ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหมด และรวมถึงสินค้า และบริการของรัฐ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น เพราะขัดกับหลักการในเรื่องที่รัฐบาลต้องการให้เม็ดเงินดิจิทัลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หากรัฐกำหนดให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายในบริการของหน่วยงานรัฐ เม็ดเงินก็จะหมุนเข้ารัฐทันที

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าวนั้น จะผ่านระบบ บล็อกเชนที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดูแลเส้นทางการใช้จ่ายได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และโปร่งใส โดยประชาชนจะใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ขณะนี้ ยังไม่สรุปว่า จะใช้ผ่านแอปเป๋าตังหรือไม่ แต่เนื่องจาก แอปเป๋าตัง ถือเป็นสินทรัพย์ของรัฐ เราสามารถนำข้อมูลของเป๋าตังมาต่อยอดการใช้จ่ายในโครงการนี้ได้

ส่วนระยะทางที่กำหนดสำหรับการใช้จ่ายเงินดังกล่าวนั้น ขณะนี้ ยังไม่สรุปว่า จะให้ได้แค่ 4 กิโลเมตร นับจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ซึ่งอาจจะขยายให้สามารถไปใช้ได้ภายในบริเวณอำเภอที่อยู่ภายในทะเบียนบ้าน ส่วนร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี กำหนดให้ต้องนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าไปใช้ต่อยังร้านที่อยู่ในระบบภาษี ซึ่งจะอยู่ภายในบริเวณอำเภอของร้านค้านั้นๆ ส่วนการขึ้นเงินของร้านค้าสุดท้ายนั้น สามารถมาขึ้นเงินได้ที่สถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สรุปว่า จะเป็นสถาบันการเงินใด

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ธนาคารยืนยัน โครงการพักการชำระหนี้ของเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 10.57% ของสภาพคล่องทั้งหมด ซึ่งตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว กำหนดอยู่ที่ไม่ควรต่ำกว่า 6 %  แต่โดยทฤษฎีแล้วการบริหารจัดการของธนาคาร สภาพคล่องดังกล่าว ไม่ควรอยู่ต่ำกว่า 10% หรือ 8.5%  ทั้งนี้ ทุกๆ 1 % ของสภาพคล่อง จะเท่ากับเม็ดเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดทำแผนให้รัฐบาลพิจารณาว่า จะพักชำระหนี้ในวงเงินใด ซึ่งได้ทำไปหลายแนวทาง ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าทั้งหมด 4.2 ล้านราย  ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าที่มีภาระหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ราว 30% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด

เขาเชื่อว่า การพักการชำระหนี้ครั้งนี้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา Moral Hazard เพราะการพักชำระหนี้ครั้งนี้ จะทำควบคู่กับการพัฒนาเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.จะมี โปรแกรมที่เป็นแรงจูงใจในการช่วยพัฒนาเกษตรกร

เขากล่าวด้วยว่า การพักการชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ เกษตรกรที่จะเข้าโครงการจะต้องมายื่นแสดงความจำนง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกษตรกรรายนั้นๆ จะเข้าโครงการพักหนี้แล้วก็ตาม แต่หากต้องการชำระหนี้เข้ามาในระหว่างการพักหนี้ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปีนั้น ก็สามารถทำได้  นอกจากนั้นโครงการพักการชำระหนี้ในครั้งนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารได้เพิ่มเติม เพื่อนำไปลงทุน และสร้างรายได้ เพราะหากไม่ให้เกษตรกรกู้เพิ่มในระหว่างการพักหนี้ ก็อาจทำให้เกษตรกรเหล่านั้นหันไปกู้จากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง

ปัจจุบัน ธนาคารมีหนี้เสียอยู่ที่ 8.17%  อย่างไรก็ตาม ตามแผนการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคาร คาดว่า จนสิ้นสุดปีบัญชีนี้ ในเดือนมี.ค.ปีหน้า ระดับ หนี้เสียของธนาคารจะลดลงมาอยู่ที่ 5.5%

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์