‘เพื่อไทย’ กางแผนเงินดิจิทัล ดันใช้ ‘ยูทิลิตี้ โทเคน’

‘เพื่อไทย’ กางแผนเงินดิจิทัล  ดันใช้ ‘ยูทิลิตี้ โทเคน’

นโยบายแจกเงินดิจิทัลเริ่มชัด “พรรคเพื่อไทย” เผยออกเป็น Utility Token เตรียมถก ธปท. หวังแก้ประกาศให้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ มั่นใจช่วยปลุกเศรษฐกิจฟื้น ต่อยอดสู่นโยบายอื่นๆ

        หลังจากที่สร้างความสงสัยอยู่นานเกี่ยวกับนโยบายแจก"เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท" ว่าจะแจกอย่างไร ผ่านช่องทางไหน และใช้จ่ายอย่างไร

         ล่าสุดมีความชัดเจนออกมาแล้วจากพรรคเพื่อไทยว่า จะเป็นการแจกผ่าน Token ในรูปของ Utility Token ประเภทที่ 1 นั่นหมายความว่า Token นี้จะสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งขัดต่อกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดังนั้นรัฐบาลใหม่จึงต้องหารือร่วมกับ ธปท. เพื่อแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้
‘เพื่อไทย’ กางแผนเงินดิจิทัล  ดันใช้ ‘ยูทิลิตี้ โทเคน’

       ส่วนเงื่อนไขและหลักของนโยบายนี้จะเป็นการสร้างและเติมเงินในดิจิทัลวอเลทมูลค่า 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร อาจปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในกรณีที่ถิ่นที่อยู่ไม่มีร้านค้าให้สามารถใช้จ่ายได้ 

       สามารถใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคได้ โดยผู้รับเงินสามารถลงทะเบียนในฐานะผู้ค้าขาย ผู้ค้าสามารถนำเงินที่ได้รับไปแลกคืนเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้ และต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ

       แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เงินดิจิทัลที่นำมาใช้ในโครงการดังกล่าวจะเป็นในรูปของ Token ซึ่งเป็น Utility Token ประเภทที่ 1 ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561

       ซึ่งสามารถดำเนินการได้หากประสานกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) โดยการนิยามเพิ่มและออกประกาศใช้โดย ก.ล.ต. ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายอื่นใดเพิ่มเติม

       สำหรับการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่าย จะเข้าข่ายการเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ(Means of Payment) ซึ่งยังเป็นข้อห้ามของ ธปท. ดังนั้นหาก ธปท. ให้ความร่วมมือ การออกประกาศของ ธปท. จะปลดล็อกข้อห้ามนี้ได้

       ส่วนการออกแบบสถาปัตยกรรมด้าน Blockchain มีความจำเป็นและต้องใช้เวลาและบุคลากรจำนวนมาก และหากยังไม่ได้เตรียมการแผนแม่บทและอัตรากำลังคน ก็เป็นการยากที่รัฐจะทำให้แล้วเสร็นภายใน 6 เดือน

       แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จำเป็นต้องมีการทำ KYC ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการทำธุรกรรมการเงินยุคปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันการทำ KYC สามารถทำได้ทั้งใน Bank และ Non-Bank เช่น 7-11

        แต่อย่างไรก็ตาม KYC มีต้นทุนที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำเฉลี่ยประมาณ 100 บาทต่อรายการ และมีขั้นตอนในการยืนยันตัวตน

        สำหรับข้อดีของการทำ KYC คือ เป็นการสร้างฐานข้อมูลประชากรไทยขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานของการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคตตามที่พรรคเพื่อไทยออกแบบวางแผนไว้

       นอกจากนี้ กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่ต้องดำเนินการในการใช้เงินดิจิทัลในโครงการนี้ ผู้ได้รับเงินดิจิทัลจะต้องยินยอมและตกลงในเงื่อนไข PDPA และรัฐจะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตามรัฐควรสามารถใช้ฐานข้อมูลในระบบ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของการใช้จ่ายและนำไปกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งควรถูกรวมไปในข้อตกลงการใช้งานนี้ด้วย

        ส่วนแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการ จะมาจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างรัฐบาลรักษาการซึ่งการทำงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถดำเนินได้ ดังนั้นงบประมาณปี 2567 จะถูกจัดทำขึ้นใหม่จึงไม่เป็นที่น่ากังวลในส่วนของงบประมาณ

       หากแต่การจัดสรรงบประมาณอาจต้องสร้างความสมดุลในการใช้จ่ายเพื่อให้ไม่เกิดการขาดแคลนในโครงการจำเป็นและสำคัญต่างๆ ที่ยังคงมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดสรร

หวังเป็นตัวจุดระเบิดเชื่อมสู่นโยบายอื่นๆ

      แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า โครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญและเป็นพื้นฐานหรือหัวเชื้อในการจุดระเบิด(Starter) ที่จะไปเชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบาย 1 ครัวเรือน 1 Soft Power นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ 2 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นต้น

        ส่วนกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ประชาชาติ เนื่องจากการใส่เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าของเงินที่ใช้ในนโยบายนี้ คือ 5.6 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้จะเท่ากับการเพิ่มปริมาณเงินตรงๆ และเงินจำนวนนี้ จะถูกกระจายไปทั่วพื้นที่ในประเทศไทย

       เมื่อประชาชนได้รับเงิน ก็จะสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยกำหนดรัศมีการใช้สอย 4 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่า เม็ดเงินที่ประชาชนได้รับ จะถูกบังคับให้ใช้ในภูมิลำเนาของตัวเอง เป็นการกำหนดให้เงินหมุนเวียนในพื้นที่ความเข้มข้นของปริมาณเงินและการหมุนเวียน จะแปรผันตามความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่นั้นๆ

        ถ้ามีประชากรมาก มีร้านค้ามาก เงินก็จะมีมากและหมุนเวียนมาก เป็นตามสัดส่วนของประชากรในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ต้องกำหนดนโยบายอื่นใดในการกำกับ ซึ่งเป็นการสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างมีสัดส่วน

       แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า เมื่อเกิดการใช้จ่าย ผู้รับเงินหรือร้านค้าได้รับเงินดิจิทัล สามารถใช้เงินที่ได้อย่างน้อย 2 วิธี คือ หากตนเองขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถนำเงินที่ได้รับไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ หรืออีกวิธี คือ นำเงินที่ได้ไปซื้อของเข้าร้านเพื่อค้าขายต่อไป หรือแม้แต่นำไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภคต่อไป

       โดยหากเมื่อผู้รับหรือร้านค้าได้รับเงินดิจิทัลดังกล่าวและยังไม่ครบกำหนด 6 เดือนของโครงการ สามารถนำไปใช้ต่อ ดังนั้นเงินดิจิทัลจะถูกหมุนไปอีก 1 รอบ และหากมีการหมุนต่ออีกหลายๆ รอบ ยิ่งหมุนหลายๆ รอบ เศรษฐกิจก็จะยิ่งเติบโตด้วยเงินก้อนเดียว

       ดังนั้นหากเงินสามารถหมุนได้ 2 รอบ ขนาดของเงินในระบบเศรษฐกิจจะเท่ากับ 1.12 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้า 3 รอบ เงินในระบบก็จะเพิ่มเป็น 1.68 ล้านล้านบาท โดยที่ปริมาณเงินขนาดนี้จะทำให้เศรษฐกิจถูกปลุกขึ้นทันทีและขับเคลื่อนต่อไป

     หวั่นเงินดิจิทัลไม่กระจายสู่รากหญ้า

      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การจ่ายเงินผ่านเงินดิจิทัล คริปโต หรือCBDC ข้อดีคือสามารถตรวจสอบได้ โปร่งใสมากขึ้น เพราะปัญหาของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน คือเศรษฐกิจสีเทามีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทั้งระบบการเลี่ยงภาษี ธุรกิจนอกระบบ ดังนั้นการกระตุ้นให้ธุรกิจ หรือการจ่ายเงินมาอยู่ระบบมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ดี

       แต่สิ่งที่ตั้งคำถามคือ การอัดฉีดเงิน 1หมื่นบาท ผ่านเงินดิจิทัล ขนาดใหญ่ไปหรือไม่ หากเทียบกับระบบการเงินในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังมีข้อสงสัยเรื่องแหล่งที่มาของเงิน และผลกระทบ ที่เงินเหล่านี้อาจกระทบไปสู่ “เงินเฟ้อ”เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงการบริหารจัดว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่

       นอกจากนี้ ห่วงว่า สุดท้ายแล้ว เงินดิจิทัล อาจไม่ได้สะพัดในระบบฐานราก และอาจหมุนอยู่เพียงธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นเงินเหล่านี้ก็จะไม่ลงไปสู่ธุรกิจรายใหญ่ หรืออาจกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากนัก ธุรกิจขนาดเล็ง 5แสนล้าน เงินถูกดูดไปสู่ ระดับใหญ่ ก็เสียโอกาสอยู่ดี จึงอยากเห็นว่าอจะทำอย่างไรให้ออกแบบที่กระจายตัว

        นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ เงินดิจิทัลยังมีความไม่ชัดเจนหลายประเด็น ทั้งเงินจะออกมารูปแบบใด จะทดแทนธนบัตรได้หรือไม่ จะถูกรวมอยู่ในระบบเงินปกติหรือไม่

       นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อทำมาตรการดังกล่าว จะมาจากแหล่งใด เพราะสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ จะเป็นภาระภาคการคลัง หรือเพิ่มกรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่ เพราะการใช้งบดังกล่าวอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่สามารถใช้กฎหมายออกงบฉุกเฉินเพื่อใช้เงินเร่งด่วนได้

     และการจัดสรรงบประมาณ จะเป็นอย่างไร เพราะขนาด5 แสนล้านบาท ถือเป็น 16%ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมดที่มีกว่า 3ล้านล้านบาท

       “วันนี้ ยังเป็นคำถามหลายประเด็น เรื่องที่มาของเงิน การจัดสรร เงินจะเข้าสู่ระบบแบบใด และการใช้จ่าย จะเน้นร้านเล็กๆหรือไม่ เพราะหากไม่จำกัด งบอาจไหลไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด ดังนั้นอาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือทำให้เศรษฐกิจหมุนเท่าที่ควร”