จีนอสังหาฯ ล้ม ไทยการเมืองเสี่ยง จะลงทุนอย่างไร

จีนอสังหาฯ ล้ม ไทยการเมืองเสี่ยง จะลงทุนอย่างไร

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่เห็นจะหนีไม่พ้นเศรษฐกิจจีนและไทย กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในเดือน ก.ค. แย่กว่าคาดในทุกดัชนี ทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนสินทรัพย์ถาวรขยายตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่การว่างงานเพิ่มขึ้น

ตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ดังกล่าว ทำให้ทางการจีนปรับลดดอกเบี้ยเหนือตลาดคาด โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ปีลง 15 Basis Point สู่ 2.5% และอัตราดอกเบี้ย 7 วัน ลง 10 Basis Point สู่ 1.8% และล่าสุด ปรับลดดอกเบี้ย Loan Prime Rate 1 ปี ลง 10 bps สู่ 3.45% ขณะที่ยังคงดอกเบี้ยเงินกู้ 5 ปี ไว้ที่ 4.2%

ขณะที่ในฝั่งภาคอสังหาฯ สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นหลังการผิดนัดชำระหนี้ของ Country Garden บริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ของจีนหากมองจากยอดขาย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติอสังหาฯ จีน ขณะที่เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่วิกฤติอสังหาฯ ในจีนจะลุกลามและเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทศวรรษที่หายไป”

ในกรณีของจีน เพราะการล้มละลายต่อเนื่องเป็นลุกโซ่ จากผู้ประกอบการ สู่ Supplier และผู้ที่อยู่ใน Supply chain ต่างๆ จะมีมากขึ้นในอนาคต และประสบการณ์จากการล้มละลายของ Evergrande บ่งชี้ว่า ทางการจะไม่เข้าไปช่วยเหลือแบบเต็มที่ แต่จะเป็นการช่วยเป็นตัวกลางในการบริหารระหว่างผู้ซื้อและผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เป็นหนทางที่จะทำให้ภาคอสังหาฯ จีน รวมถึงสถานะของที่อยู่อาศัยในจีน เปลี่ยนจาก “ที่เก็งกำไร” ไปสู่ “ที่อยู่อาศัย” ตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

ขณะที่ในประเด็นบริษัท China Evergrande ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายตามกฎหมายสหรัฐฯ หมวดที่ 15 ต่อศาลนครนิวยอร์ก  ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถคุ้มครองทรัพย์สินที่อยู่ในสหรัฐฯ ได้

         ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2021 ได้รับการประเมินว่า บริษัทมีหนี้สินมากถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหุ้นของบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ถูกระงับการซื้อขายมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 22 และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดเผยแผนการปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากที่ขาดทุนกว่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีการผิดนัดชำระหนี้กับธนาคารในประเทศ 171 แห่ง และบริษัททางการเงินอื่น ๆ อีก 121 แห่ง

เราวิเคราะห์ว่า สถานการณ์การตกต่ำของภาคอสังหาฯ จีน จะลากยาว และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น เห็นได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ของจีน เป็นผู้ที่มีหนี้สูงทั้งสิ้น โดยปัจจุบัน ผู้ประสบปัญหาส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการภาคเอกชน แต่ในระยะต่อไป ผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจจะเริ่มมีปัญหามากขึ้น 

เรามองว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความเสี่ยงใน 4 ด้านด้วยกัน คือ 1. ภาวะเงินฝืด 2. เศรษฐกิจต่างประเทศที่แย่ลงและกระทบต่อภาคการส่งออก  3.เผชิญกับกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) จากการลดดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการกู้ยืมรวมถึงปริมาณเงินในระบบได้ และ 4. วิกฤติอสังหาฯ ที่ลุกลามรุนแรงขึ้น ภาพทั้งหมดจะทำให้เศรษฐกิจจีนกำลังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Deflationary Spiral หรือวงจรเงินฝืด หลังจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำยาวนาน

โดยหนทางที่จะรอดพ้นนั้น อาจต้องเกิดสถานการณ์ดังนี้ 1. ทางการจีนปรับลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรง เพื่อเป็นการ “ช็อค” เศรษฐกิจ 2. เศรษฐกิจโลกไม่ได้แย่มาก และฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับความต้องการสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น  3. ต้นทุนภาคการผลิต (PPI) ต้องฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและดึงเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ขึ้นตาม เนื่องจากสถานการณ์ทั้งสามเป็นไปได้ยาก ทำให้จีนเสี่ยงเข้าสู่วงจรเงินฝืดมีมากขึ้น และทำให้เราปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนในปีนี้ลง จากที่เคยมองไว้ที่ 5.3% สู่ 5.0% โดยครึ่งปีหลังจะชะลอแรงขึ้น

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 1.8% ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาดที่ 2.5% และ 3.0% ค่อนข้างมาก เนื่องจาก เป็นเพราะ 1. การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุนที่หดตัวมากขึ้น ผลจากรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ ทำให้การเบิกจ่ายภาครัฐลดลง 2. การส่งออกสินค้าที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกบริการ (ท่องเที่ยว) ชะลอลง บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง กระทบต่อรายได้จากต่างประเทศ และ (3) สินค้าคงคลัง ที่หดตัว บ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวมากกว่าภาคการบริโภค ทำให้สินค้าคงคลังหดตัว

นอกจากนั้น สภาพัฒน์ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ปรับลดลงเข้าใกล้การคาดการณ์ของเรามากขึ้น โดยปรับลดเป็น 2.5-3.0% (ค่ากลาง 2.8%) โดยปรับลดองค์ประกอบภายในแทบทั้งหมดโดยเฉพาะการส่งออก

ในส่วนของเรานั้น ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.7% ในปีนี้ แต่เผชิญปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น 4 ประการ คือ (1) การส่งออก  (2) การจัดตั้งรัฐบาล (3) ความตึงตัวทางการเงิน และ (4) ภาวะ El Nino ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.1-2.8%

ภาพดังกล่าว ทำให้เรามีมุมมองว่าตลาดจีนยังคงได้รับแรงกดดันจากภาพเศรษฐกิจและวิกฤตอสังหาฯ ทำให้เราระมัดระวังในการลงทุนในจีนมากขึ้น ในส่วนของหุ้นไทย เรามองว่า SET แกว่งตัวในกรอบ 1,500-1,550 จุด โดยหากการเมืองชัดเจนขึ้น มีโอกาสดัชนีปรับขึ้นสู่ระดับ 1,550 จุด  อีกครั้ง และคาดจะเห็น Fund Flow จะเริ่มไหลกลับเข้าเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดี บรรยากาศลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะต่อไปยังจะถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยง เรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน เช่นเดียวกับความเสี่ยงเศรษฐกิจและการเมืองไทยในระยะต่อไปที่มากขึ้น

ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุน

 

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน
โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm
- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher
#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้