ทำความรู้จักการปล่อยกู้นอกตลาด (Private Credit) หนึ่งในการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ

ทำความรู้จักการปล่อยกู้นอกตลาด (Private Credit) หนึ่งในการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) นับเป็นทางเลือกของการลงทุนที่มีทิศทางเติบโตได้ดีในบ้านเรา สะท้อนจากอุปสงค์ของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สถาบันการเงินนำเสนอให้กับกลุ่มลูกค้าที่มากขึ้น

การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเป็นการเพิ่มทางเลือกของการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนที่น่าสนใจ  โดยการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักๆ จะเป็นได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ หุ้นนอกตลาด (Private Equity) การปล่อยกู้นอกตลาด (Private Credit) และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate) ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะของการลงทุนที่แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะของธุรกรรมและสินทรัพย์ ระยะเวลาของการลงทุน ผลตอบแทนคาดหวัง และความเสี่ยงต่างๆ ที่แม้จะมีคล้ายๆ กัน แต่ก็จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด

ตลาด Private Credit คือการปล่อยกู้ให้กับบริษัทโดยนักลงทุนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทที่กู้เงินจะเป็นบริษัทนอกตลาดหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ ซึ่งการปล่อยกู้นั้นไม่มีการนำมาซื้อขายในตลาดรอง แตกต่างจากการลงทุนในหุ้นกู้ที่เป็นการลงทุนในตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งและสามารถนำมาซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) ได้ โดย Private Credit นั้นแบ่งออกเป็นหลายลักษณะตามแต่ผู้แบ่ง

แต่หลักๆ อาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทตามระดับของความเสี่ยงและลักษณะของการปล่อยกู้ ได้แก่ (1) การปล่อยกู้โดยตรง (Direct Lending) คือ การปล่อยกู้ให้กับบริษัทต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ต่างๆ การขยายกิจการ การ Refinance ภาระหนี้ หรือเพื่อการควบรวม (Merger & Acquisition) ซึ่งโดยทั่วๆ ไปการปล่อยกู้โดยตรงในลักษณะแบบนี้จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่ามีหลักประกัน (Collateral) หรือไม่ และอยู่ในสถานะของของการไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) หรือด้อยสิทธิ (Junior Debt) และส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้แบบลอยตัว โดยมีระยะเวลาที่ชัดเจน (Lock-up) กำหนดไว้

(2) การปล่อยกู้กึ่งทุน (Mezzanine Debt) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ ที่มีโอกาสในการเปลี่ยนเป็นทุน (Equity) ในภายหลังหากเข้าเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นสำหรับผู้ปล่อยกู้ (3) การปล่อยกู้ในลักษณะร่วมลงทุน (Venture Debt) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับข้อที่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยให้กับธุรกิจร่วมลงทุนต่างๆ (Venture Capital) ซึ่งจะไปช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องหรือใช้ชำระค่าใช้จ่ายของกิจการในช่วงเริ่มต้น และสามารถแปรเปลี่ยนเป็นทุนได้ในภายหลังเช่นกัน แต่การลงทุนในส่วนนี้โดยทั่วไปจะมีความเสี่ยงมากกว่าในข้อที่แล้วจากขนาดของกิจการที่ปล่อยกู้ที่มีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้นมากกว่า

และ (4) การปล่อยกู้โดยตรงในกลุ่มธุรกิจที่มีการปรับโครงสร้าง (Distressed Strategy) ซึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่สูงที่สุดในกลุ่ม แต่ก็มาพร้อมกับส่วนลด (Discount) ที่สูง และโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงหากกิจการปรับโครงสร้างได้สำเร็จ ซึ่งยังแบ่งย่อยลงไปได้อีกขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและลักษณะของกิจการต่างๆ

ข้อดีของการลงทุนใน Private Credit นั้นมีสามประการ ได้แก่ (1) การที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการปล่อยกู้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) ทำให้ไม่ต้องกังวลหากเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น (2) การตีราคา (Mark-to-Market) ที่ส่วนใหญ่จะทำเป็นรายไตรมาส ทำให้ราคาสินทรัพย์ไม่ผันผวนมากจนเกินความจำเป็น และ (3) เรื่องของความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เหมาะแก่การกระจายความเสี่ยงเมื่อพิจารณาในภาพรวมของพอร์ตฟอลิโอ (Portfolio Diversification)

ในส่วนของทางเลือกของการลงทุนก็เป็นการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) เช่น การลงทุนให้กู้ยืมกับกิจการโดยตรง แต่เนื่องจากทางเลือกนี้ยังทำได้จำกันในประเทศไทย เนื่องจากยังคงมีอุปสรรคอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฏหมายที่รองรับพิเศษที่ต้องสอดคล้องไปกับธุรกรรมการเงินอื่นๆ รวมถึงมาตรการของการปล่อยกู้ต่างๆ ที่อาจจะต้องมีมาตรฐานมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักประกัน หรือการตีมูลค่าต่างๆ เป็นต้น การลงทุนที่อาจจะทำได้ง่ายกว่าคือการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองเดียว (Feeder Fund) หรือ หลายกองทุน (Fund of Funds) ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าและใช้เงินลงทุนน้อยกว่า

การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดนั้นโดยทั่วไปมีความเสี่ยงสูงกว่าสินทรัพย์ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านราคา (Market Risk) และความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ทำให้จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงระดับและขนาดของการลงทุนที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาถึงผลขาดทุนที่รับได้ และความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นๆ ที่ถือครองอยู่ประกอบกันไป และหากเป็นการลงทุนผ่านกองทุนจำเป็นจะต้องพิจารณานโยบายการลงทุนและกลุ่มของ Private Credit ที่เน้นการลงทุน เนื่องจากในแต่ละลักษณะเองก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปมาก

การมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นนับเป็นข้อดีเสมอ ซึ่งแม้อาจจะไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุกคน แต่กลุ่มการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเหล่านี้ ก็นับเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจและน่าจะเพิ่มความนิยมในหมู่นักลงทุนอย่างต่อเนื่องครับ ..

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด