ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ คาดเฟดขึ้นดบ.ต่อ-การเมืองไทยยังไม่ชัด

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ คาดเฟดขึ้นดบ.ต่อ-การเมืองไทยยังไม่ชัด

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ส.ค. 66 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์แข็งค่า จากตลาดมองเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ - โฟลว์ซื้อทองคำจังหวะย่อตัว -ความไม่แน่นอนการเมืองไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.15-35.35 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาหก่อนหน้า ที่ระดับ  35.07 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.75-35.50 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงคืนวันจันทร์ก่อน (วันหยุดของตลาดการเงินไทย) "เงินบาท"ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.03-35.34 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกลับมามองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน 

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ส.ค.66 ‘อ่อนค่า’ คาดเฟดขึ้นดบ.ต่อ-การเมืองไทยยังไม่ชัด

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงอยู่ แต่โมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มแผ่วลง โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนจากฝั่งตลาดการเงินจีน ที่อาจกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง กระทบค่าเงินบาทได้ ในกรณีที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง อนึ่ง เราประเมินแนวต้านแรกของเงินบาทแถวโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด หรือรายงานการประชุมเฟดที่ย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินโลก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตลาดเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีน รวมถึงจับตารายงานการประชุมล่าสุดของเฟด และติดตาม ความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า ยอดค้าปลีก อาจโตกว่า +0.4%m/m หนุนโดย Amazon Prime Day ที่กระตุ้นยอดขายสินค้าออนไลน์กอปรกับภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาจยังหนุนให้ผู้คนออกมาใช้จ่าย โดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายภาคการบริการ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วน (รวมถึงเรา) มองว่า การบริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามการชะลอลงของการจ้างงาน, เงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) ที่ทยอยหมดลง, ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการบริโภคสไตล์ “ซื้อก่อน ผ่อนจ่ายทีหลัง” ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทำให้เรายังคงมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้เฟดอาจไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด(FOMC Meeting Minutes) ซึ่งเราคาดว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็อาจยังสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ แต่ก็อาจระบุว่า เฟดนั้นเข้าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน 

▪ ฝั่งยุโรป – นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของอังกฤษ เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.8% จากระดับ 7.9% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน รวมถึงมาตรการคุมราคาแก๊สและค่าไฟฟ้า แต่ทว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.8% (จาก 6.9%) ทำให้เราประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 2 ครั้ง ครั้งละ+25bps จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 5.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ จากรายงานยอดค้าปลีก เดือนกรฎาคม โดยการใช้จ่ายของครัวเรือนอาจได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและภาวะอากาศที่แปรปรวนล่าสุด ทำให้ยอดค้าปลีกอาจหดตัว -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากที่โตกว่า+0.7% ในเดือนก่อน

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนกรกฎาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซาอยู่ กดดันโดยภาคอสังหาฯ ที่ยังคงชะลอตัวลง สะท้อนผ่าน ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ที่ขยายตัว+3.7%y/y, YTD ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนภาพเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลงก็ยังคงส่งผลให้ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) โต +4.3%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนมีความคึกคัก ส่งผลให้ ยอดค้าปลีกอาจโต +4.2% ดีขึ้นจาก +3.1% ในเดือนก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าภาพเศรษฐกิจจีนอาจยังไม่สดใส แต่ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยังคงอัตราดอกเบี้ย MLF ไว้ที่ระดับ 2.65% ทว่ามีโอกาสที่PBOC อาจลดอัตราดอกเบี้ย MLF สู่ระดับ 2.55% ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจอาจโตกว่า +2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี หนุนโดยการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคในประเทศอาจไม่ได้ขยายตัวดีมากนัก จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ทำให้ แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น เดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core-Core CPI (ไม่รวมผลของพลังงานและอาหารสด) อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็อาจยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ จนกว่าการบริโภคในประเทศจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และ BOJ อาจยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น 

▪ ฝั่งไทย – เรามองว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมอาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะยังมีความผันผวนอยู่ จนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเสร็จสิ้น