10 อันดับ ‘กองทุนหุ้นสหรัฐ’ ผลตอบแทนสูงสุด รอดเหตุหลังฟิทช์หั่นเรทติ้ง

10 อันดับ ‘กองทุนหุ้นสหรัฐ’ ผลตอบแทนสูงสุด  รอดเหตุหลังฟิทช์หั่นเรทติ้ง

“กองทุนไทย”มองผลกระทบฟิทช์หั่นเรทติ้งสหรัฐ ฉุดตลาดผันผวนสั้น ขณะที่ ความเชื่อมั่นในสหรัฐยังแกร่ง “กองทุนหุ้นสหรัฐ” ให้ยีลด์เด่น นำโดยกองทุนเปิด MEGA10RMF พุ่ง 44.32% “อีสท์สปริง” แนะตลาดย่อทยอยเก็บหุ้นเทคสหรัฐฯ “จิตตะ เวลธ์” แนะ DCA ในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ต่อเนื่อง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลังจาก Fitch Ratings ปรับลด Long-term Rating สหรัฐฯจาก AAA เป็น AA+ โดยมองว่าฐานะทางการคลังของสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแอลงในระยะ 3ปีข้างหน้า จากการะหนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่องและการเก้ปัญหาเพดานหนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังมีความซับซ้อน

โดย S&P ที่ปรับลดจาก AA4 เป็น A4+ ซึ่งตลาดหุ้นตอบสนองเชิงลบทันที ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดการDowngrade ประมาณ 2 เดือน

ส่วนตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลง รวมถึง Futures ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล่าสุด ปรับตัวลงอยู่ที่ 0.3-0.7% ถือว่า” ไม่ได้รุนแรงมาก”

10 อันดับ ‘กองทุนหุ้นสหรัฐ’ ผลตอบแทนสูงสุด  รอดเหตุหลังฟิทช์หั่นเรทติ้ง

ทางด้านผู้จัดการกองทุนไทย ประเมินว่า ตลาดอาจผันผวนระยะสั้น และอาจมีแรงขายทำกำไรจากตลาดหุ้นฝั่งDeveloped Merketที่ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากตั้งแต่ต้นปี

ผู้จัดการกองทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังคงมีมุมมองว่า ผลกระทบต่อตลาดไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับปี 2554เพราะไม่ได้มี Trigger หรือ Event ที่ชัดเจน ด้านการแก้ปัญหาเพดานหนี้รอบนี้ถูกขยายไปเดือน ม.ค. 2568 จึงประเมินว่ายังเร็วเกินไปที่ตลาดกังวลกับฐานะการคลังของสหรัฐฯ ในตอนนี้

แน่นอนว่า กองทุนหุ้นสหรัฐ ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ยังคงแข็งแกร่งผ่านมรสุมช็อคตลาดมาได้ มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช(ประเทศไทย) รายงานข้อมูล "ผลตอบแทนกองทุนหุ้นสหรัฐ" พบว่า 10 อันดับกองทุนที่ยังให้ผลตอบแทนสูงสุด (ณ 3 ก.ค.2566)  ดังนี้

1. กองทุนเปิด MEGA 10 เพื่อการเลี้ยงชีพ (MEGA10RMF)  ผลตอบแทน 44.32%

2.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Innovation (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) SCBINNO(SSFE)  ผลตอบแทน 42.90%

3.กองทุนเปิดกรุงศรี Disruptive Innovation-I  (KFINNO-I ) ผลตอบแทน 40.60% 

4.กองทุนเปิดทีเอ็มบี อีสท์สปริง Global Innovation (TMB-ES-GINNO)  ผลตอบแทน  39.15% 

5.กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง Global Innovation เพื่อการออม (T-ES-GINNO-SS ) ผลตอบแทน 38.60%

6. กองทุนเปิดบีแคป หุ้นยูเอส เอ็นดี 100 (BCAP-USND10) ผลตอบแทน  36.98%

7. กองทุนเปิดเคเคพี NDQ100 - HEDGED ชนิด F (KKP NDQ100-H-F)  ผลตอบแทน  36.64%

8.กองทุนเปิดทาลิส หุ้นยูเอสเอ็นดีคิว -เฮดจ์ ชนิดสะสมมูลค่า  (TLUSNDQ-H-A) ผลตอบแทน 36.31%

9.กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100-A ชนิดสะสมมูลค่า (K-USXNDQ-A(A))  ผลตอบแทน 36.00%

10.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส เอ็นดีคิว (ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) ( SCBNDQ(SSFE))  ผลตอบแทน 35.51%

“บดินทร์ พุทธอินทร์”  ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. อีสท์สปริง (ประเทศไทย) มีมุมมองว่าถ้าดูจากการเคลื่อนไหวในอดีตแล้วจะพบว่าเมื่อไหร่ที่ Bond Yield 10ปีของสหรัฐฯแตะระดับ 4% ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักจะถูกเทขายด้วยเช่นกัน

โดยสรุปแล้วเรามีมุมมองว่า การปรับลด credit rating ไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ และตลาดจะกลับมาให้ความสนใจกับตัวเลขเศรษฐกิจ ผลประกอบการไตรมาส 2/2566 รวมถึงติดตามว่าเฟดจะสามารถทำ soft landing ได้หรือไม่ 

ทำให้เรายังคงมีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯโดยเฉพาะกลุ่มกลุ่มเติบโตหรือเทคโนโลยีเนื่องจากเฟดเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย “นักลงทุนอาจใช้จังหวะที่ตลาดหุ้นย่อตัวทยอยเข้าลงทุน”

 

"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์  มองว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาบันจัดอันดับได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ

โดย Standard & Poor’s บริษัท Rating Agency ชั้นนำของสหรัฐ ลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็น AA+ จากระดับ AAA ในปี 2554 หลังจากที่รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ในเวลานั้น 

โดยในตอนนั้นบริษัทให้เหตุผลที่ลด Rating ว่าเกี่ยวกับความเสี่ยงในด้านการเมือง แต่ตั้งแต่ปี 2554 ดัชนี Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 200% 

หากเปรียบเทียบในส่วนของ Rating ที่ถูกปรับลดลงมานั้นระดับ AA+ จะทำให้สหรัฐอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศNew Zealand หรือ Finland ซึ่งก็ยังอยู่สูงกว่าประเทศเช่น Hongkong ที่ถือว่าเป็น Top 5 ศูนย์กลางทางการเงินของโซนเอเชีย โดยหากสหรัฐสามารถบริหารการจัดการส่วนของเพดานหนี้และนโยบายทางการคลังที่ชัดเจนมากขึ้นก็อาจจะมีการปรับ Rating กลับขึ้นมาที่ระดับ AAA อีกครั้ง

“ในระยะยาวคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ แต่เราอาจจะเห็นผลกระทบด้านชื่อเสียงของสหรัฐฯ  ในระยะสั้นนักลงทุนอาจจะกังวลถึงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้นตามแรงเทขายสินทรัพย์จากการ Panic ระยะสั้นเท่านั้น”

นายตราวุทธิ์  กล่าวว่า ความเชื่อมั่นโดยรวมในตลาดสหรัฐยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง หากดูผลตอบแทนเฉลี่ยของS&P500 รายปีตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2022 ซึ่งเป็นระยะเวลาทั้งหมด 12 ปี โดยมีเพียงปี 2018 และ 2022 ที่ดัชนีS&P500 มีผลตอบแทนที่ติดลบ หากคิดผลตอบแทนเฉลี่ยที่รวมเงินปันผลทั้งหมด 12 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่+12.8%” 

 

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ตลาดได้รับรู้เกี่ยวกับข่าวลดเรทติ้งไปนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Vanguard Total stock market หรือ VTI ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่หลากหลายในสหรัฐฯ ได้ปรับลดลงเพียง -1.42% เป็นเพียงส่วนน้อยหากเทียบกับผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่เพิ่มขึ้นมาถึง +17.90% 

หากมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอสามารถลงทุน DCA ได้ตามปกติ เหตุการณ์การปรับลดเรทติ้งถือเป็นสถานการณ์ตลาดที่เคยเกิดขึ้นและเป็นเพียงความผันผวนระยะสั้น

ทั้งนี้ Fitch ได้คาดการณ์ว่าการขาดดุลงบประมานของสหรัฐนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ของ GDP ในปี 2566 โดยปี2567 และ 2568 เข้าสู่ระดับ 6.6% และ 6.9% ตามลำดับ จากที่อยู่ในระดับ 3.7% ในปี 2565 และรัฐบาลท้องถิ่นคาดว่าจะขาดดุลโดยรวม 0.6% ของ GDP ในปีนี้ หลังจากที่เกินดุลเล็กน้อย 0.2% ของ GDP ในปี 2565 

ส่วนการที่รัฐบาลปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านกลาโหมที่คิดเป็น 15% ของการใช้จ่ายโดยรวมของรัฐบาลกลาง ตามกฎหมาย 'Fiscal Responsibility Act' ช่วยให้แนวโน้มการคลังในระยะกลางดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น Fitch กล่าวว่ายังไม่เห็นแนวโน้มของการคลังสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2567 

แต่สหรัฐอเมริกายังคงรักษาความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างหลายประการ รวมถึงสหรัฐเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงบริษัทต่างๆ มีขนาดใหญ่และกระจายไปหลากหลายอุตสาหกรรม ตลอดไปจนสถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังถือว่าเป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญที่สุดของโลก ทำให้สหรัฐมีความยืดหยุ่นทางการเงินสูง

 แต่อย่างไรก็ตาม Fitch Rating คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2566 และต้นปี 2567  ธนาคารกลางสหรัฐได้มีความเข้มงวดเงื่อนไขสินเชื่อมากขึ้นโดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีที่ผ่านมา และอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความแข่งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ

การพิจารณาESG (เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance) รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง สิทธิ และตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลอื่นๆ ส่งผลดีต่อสถานะเครดิตของประเทศ แต่โดยรวมแล้ว การปรับลดอันดับจาก AAA เป็น AA+ สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับฐานะทางการคลังของสหรัฐฯ