โรคโควิด-19 เร่งเศรษฐกิจดิจิทัลจริงหรือ?

หนึ่งในผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 คือ พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาใช้การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-payment) มากขึ้น 

ข้อมูลจาก Global Findex 2021 Database ของธนาคารโลก เปิดเผยว่า สัดส่วนของประชากรไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และมีการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล (Digital payment) เพิ่มขึ้นจาก 62% ในปี 2560 เป็น 92% ในปี 2565 จึงเป็นที่มาของคำกล่าวว่า โรคโควิด-19 ช่วยเร่งกระบวนการการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้น

“เศรษฐกิจดิจิทัล” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย เพราะรัฐบาลไทยส่งเสริมสังคมไร้เงินสด (Cashless society) มาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนจากการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-payment ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา 

อีกทั้งออกนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะสนับสนุนสังคมไร้เงินสดมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่อัตราการเติบโตของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ที่มีอัตราการเจริญเติบโตของจำนวนบัญชีลูกค้า ปริมาณธุรกรรม และมูลค่าของธุรกรรม ระหว่างปี 2563-2564 สูงกว่าการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอื่นๆ

โรคโควิด-19 เร่งเศรษฐกิจดิจิทัลจริงหรือ?

เมื่อติดตามธุรกรรมการชำระเงินของไทย ซึ่งเป็นสถิติที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปลายเดือน มี.ค.2563 จนกระทั่งการประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2563 

ปริมาณธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile Banking เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 675 ล้านรายการในเดือน มี.ค.2563 เพิ่มเป็น 866 ล้านรายการในเดือน ส.ค.2563 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 28% ภายในระยะเวลา 6 เดือน

โดยหลังจากที่มีการใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 แล้วพบว่า ปริมาณการทำธุรกรรมผ่านทาง Mobile Banking อยู่ในระดับคงที่ สืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนสามารถใช้เงินสดในการซื้อสินค้าและบริการ อาหาร ได้จากร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าโดยตรง เฉกเช่นก่อนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในภาพรวมนั้น ระหว่างเดือน ธ.ค.2562-ธ.ค.2564 ปริมาณธุรกรรมของ Mobile Banking เพิ่มขึ้น 185% (2.8 เท่า) ขณะที่ปริมาณธุรกรรมของ Internet Banking เพิ่มขึ้น 91% (1.9 เท่า)

ในแง่ของมูลค่าของธุรกรรม พบว่ามูลค่าธุรกรรมของ Mobile Banking เพิ่มขึ้น 93% (1.9 เท่า) ขณะที่มูลค่าของ Internet Banking เพิ่มขึ้น 45% (1.5 เท่า) 

การเพิ่มขึ้นของ E-payment โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Mobile Banking ในปี 2563 และ 2564 สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของธุรกรรมผ่าน Mobile Banking จึงอาจไม่ได้เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งในด้านอุปสงค์ของการใช้ Mobile Banking ที่มีมากขึ้น และด้านอุปทาน หรือปริมาณและเสถียรภาพของแอปพลิเคชันและแฟลตฟอร์มของการใช้จ่ายออนไลน์ รวมถึงไปทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการใช้งานการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

สำหรับงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อพฤติกรรมการใช้เงินผ่าน Mobile Banking นั้น ผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์ประชาชนกว่า 500 รายในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.2564

โรคโควิด-19 เร่งเศรษฐกิจดิจิทัลจริงหรือ?

พบว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า จำนวนครั้งของการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ตอบแบบสอบถาม 33.47% ระบุว่า จำนวนเงินที่ชำระผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ด้านช่องทางย่อยในการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 17.62% ระบุว่า จำนวนครั้งของการโอนเงินหรือชำระเงินผ่าน PromptPay เพิ่มขึ้น และผู้ตอบแบบสอบถาม 17.43% ระบุว่า จำนวนครั้งของการสแกน QR Code เพื่อโอนเงินหรือชำระเงินเพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยทำให้ไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยียังเป็นโจทย์สำคัญ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ภาครัฐควรส่งเสริมการโอนเงินหรือชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีระดับการศึกษาน้อย ด้วยการสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มประชาชนที่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยกว่า 

นอกจากนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของการโอนเงินหรือชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้บริการ PromptPay และ QR Code ซึ่งส่งผลทำให้ธุรกรรมการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในภาพรวมเพิ่มขึ้น 

ท้ายที่สุดนี้ ภาครัฐควรทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อชำระเงิน เพื่อให้เข้าใจปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการใช้งาน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปประชากรแต่ละกลุ่ม.