ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งหลังปี66 ยังสดใส หนุนเบี้ยรับรวมเข้าเป้าโต0-2%

ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งหลังปี66 ยังสดใส หนุนเบี้ยรับรวมเข้าเป้าโต0-2%

สมาคมประกันชีวิตไทย มองทิศทางครึ่งปีหลัง66 ยังโตต่อเนื่อง สารพัดปัจจัยหนุน และเดินหน้าผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ยังคงเป้าเบี้ยรับรวมสิ้นปีนี้โต0-2% ที่ 6.12-6.23 แสนล้าน จากครึ่งปีแรกนี้ โต 3.78 ที่3แสนล้าน

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี

โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,500 – 623,500 ล้านบาท เติบโตอยู่ในช่วงระหว่าง0-2 % ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประมาณ81-82%

ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งหลังปี66 ยังสดใส หนุนเบี้ยรับรวมเข้าเป้าโต0-2%

 

 

จากในช่วงครึ่งแรกปี 2566 (ม.ค. – มิ.ย.2566) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 300,005 ล้านบาท เติบโต 3.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 แบ่งเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 86,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.93% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 213,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.82% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 82% 

ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งหลังปี66 ยังสดใส หนุนเบี้ยรับรวมเข้าเป้าโต0-2%

 

นายสาระ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต  คือ ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพหรือโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมาจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น Covid-19 และมาจากภาคธุรกิจที่ออกนโยบายและมีการบังคับใช้แบบมาตรฐานใหม่ของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ (New Health Standard) ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และเลือกความคุ้มครองได้ตามที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนเริ่มตระหนักในการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) มากขึ้น จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย

รวมถึงที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ และมีมาตรการผ่อนคลายการกำกับดูแลให้เป็น Principle-Base มากขึ้น โดยกรอบแนวปฏิบัติสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน เพื่อให้ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตยังสามารถเติบโตได้แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะวิกฤต นอกจากนี้ภาคธุรกิจได้มีการส่งเสริมให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด อาทิความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้นแต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท สงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อหรืออำนาจซื้อของประชาชน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สามารถสร้างผลกระทบและมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการประกันชีวิตและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังรวมถึงการเริ่มใช้กฎระเบียบและมาตรฐานสากลใหม่ เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 (TFRS 17) การปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา (FATCA) มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (CRS) และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่ส่งผลให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตจะต้องปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ทั้งงบประมาณ เวลา และบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ

ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน โดยนำแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน(ESG) เพื่อประกอบการพิจารณาลงทุนและดำเนินงาน ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล(Governance) มาประยุกต์ใช้เพื่อธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความยั่งยืน การส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนากระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการนำเสนอขาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับในการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยให้มากขึ้นการสร้างองค์ความรู้เรื่องการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการแข่งขันอย่างเสรี ภายใต้ธรรมาภิบาลและการดูแลของหน่วยงานกำกับ

ที่สำคัญ สมาคมประกันชีวิตไทยมีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีการดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย และมีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR Ratio) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Supervisory CAR) เพียงพอต่อการปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา ดังจะเห็นได้จาก ในไตรมาสที่ 1/2566 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง อยู่ที่ร้อยละ 385 ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR) จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยทุกท่านเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และยึดมั่นคำสัญญาตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย