KBANK ไตรมาส2/66 กำไร 1.09 หมื่นล้าน -ตั้งสำรองสูง1.27 หมื่นล้าน เพิ่ม 29.76%

KBANK ไตรมาส2/66 กำไร 1.09 หมื่นล้าน -ตั้งสำรองสูง1.27 หมื่นล้าน เพิ่ม 29.76%

KBANK ไตรมาส2/66 กำไร 1.09 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 1.38 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุรายได้ดอกเบี้ย-ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ตั้งสำรอง 1.27 หมื่นล้าน เพิ่ม 29.76% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนงวดครึ่งปีแรกกำไร 2.17 หมื่นล้าน ลดลง 1.22%- ตั้งสำรอง2.54 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 32.77%

นายพิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KBANK แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส2 ปี 2566 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 10,994.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  1.38 % เมื่อเทียบกับช่่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10,793.74  ล้านบาท  เนื่องจาก รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็น 36,701 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 32,012 ล้านบาท  

รวมถึงมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 11,369 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 9,499 ล้านบาท  แต่รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงานสุทธิ 48,070 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 41,511 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 12,784ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.76%  จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 9,852 ล้านบาท  แต่หากเทียบกับไตรมาส1 ปี 2566 ที่ 12,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  0.72%

ทั้งนี้หากเทียบกำไรสุทธิไตรมาส2 ปี 2566 กับไตรมาส1 ปี  2566 ธนาคารมีกกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2.36%  จากไตรมาส1 ที่มีกำไรสุทธิ  10,741ล้านบาท เพราะธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 27,223  ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นหลักๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆเพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้า ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิอยู่43.37% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 42.50%

สำหรับงวดครี่งปีแรก 2566 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 21,735.33 ล้านบาท ลดลง 1.22% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 22,004.70 ล้านบาท   โดยธนาคารยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามแนวทางที่ธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่งที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยในไตรมาสก่อน และได้มีสำรองฯ ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 1 ปี 2566 โดยแม้สินเชื่อดังกล่าวถูกจัดเป็นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาส 2 ธนาคารก็ยังคงมีความแข็งแกร่งจากการเตรียมการมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สำรองฯ ในไตรมาส 2 นี้ อยู่ที่ 25,476  ล้านบาท  แม้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 32.77% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่มีความใกล้เคียงกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า

ทั้งนี้เพื่อรองรับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่กระจายตัวทั่วถึง และส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 54,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ร่วมกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.25% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อใหม่ ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.54%

แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตรา 0.46% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25.64% หลัก ๆ จากมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 14.61% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.94% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน