จับตา ‘วิกฤติหนี้ท่วมโลก’ ทำยอดบริษัทล้มละลายพุ่ง กลุ่มประเทศ EM น่าห่วง

จับตา ‘วิกฤติหนี้ท่วมโลก’ ทำยอดบริษัทล้มละลายพุ่ง กลุ่มประเทศ EM น่าห่วง

สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก ร่วมกับผลกระทบจากการก่อหนี้ในช่วงโควิด-19 กดดันปริมาณหนี้ปี 2565 และยอดล้มละลายทั่วโลกช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พุ่งทำนิวไฮ แม้กูรูมองต่างประเด็นความน่ากังวล

Key Points

  • ดอกเบี้ยขาขึ้นและผลกระทบจากการก่อหนี้ในช่วงโควิด-19 กดดันปริมาณหนี้ปี 2565 และยอดล้มละลายทั่วโลกช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พุ่งสูงทำนิวไฮ
  • “จิติพล” ฟันธงปริมาณหนี้ที่สูงเป็นวรจรปกติของการสร้างหนี้ในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่น่ากังวลคือหากเกิดวิกฤติอีก อาจจะสร้างหนี้เพิ่มยาก 
  • “จิติพล” สถานการณ์หนี้ในประเทศไทยยังไม่น่ากังวลเพราะมีปริมาณน้อยและธรรมชาติมักเกินดุลการค้า
  • “กิจพล” ชี้ ปัญหาหนี้ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่น่ากังวลเพราะ สภาวะเศรษฐกิจผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจโลก

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายประเทศต่างเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ต้นทุนพลังงานทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ทั้งนี้ยังไม่นับกรณีที่ “กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน” หรือโอเปกปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลก 

ทั้งหมดกดดันให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมาย แม้ในปัจจุบันสถานการณ์เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) จำนวนหนึ่ง (อย่างประเทศไทย) จะเข้าสู่ “กรอบเป้าหมาย” แล้วก็ตาม

 

หากจะกล่าวถึงผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง รวมทั้งความปั่นป่วนของเศรษฐกิจหลายประเทศสืบเนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะนับเป็นหนึ่งกรณีที่สำคัญ ทว่าอีกหนึ่งผลกระทบที่น่าจับตาคือ “ปริมาณหนี้ทั่วโลก” ปรับตัวสูงขึ้น

หนี้สาธารณะทั่วโลกขยายตัวทำนิวไฮ ผลจากโควิด-19

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติคน (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2565 ปริมาณหนี้สาธารณะทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,036 ล้านล้านบาท) เป็นผลมาจากการกู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลกระทบเหล่าประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด 

โดยปริมาณหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกขยายตัวขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2545

ขณะที่ มูลหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวแตะระดับ 30% ของหนี้สาธารณะทั่วโลก ซึ่งปริมาณหนี้ของจีน อินเดีย และบราซิล รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 70% ของหนี้สาธารณะทั้งหมดทั่วโลก และมูลหนี้รวมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 59 แห่งมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 60% ซึ่งเป็นระดับภาระหนี้ที่สูงมากเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของโลก

จากตัวเลขการขยายตัวข้างต้น เห็นได้ชัดว่า หนี้นับเป็นภาระหนักสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจาก การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ความผันผวนของค่าเงิน และเศรษฐกิจที่ซบเซา 

หนี้คงค้างขยายตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากภาระหนี้สาธารณะของหลายประเทศทั่วโลกแล้ว “ปริมาณหนี้คงค้าง” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่แพ้กัน โดย เจนัส เฮนเดอร์สัน อินเวสเตอร์ส (Janus Henderson Investors) บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับดัชนีมูลหนี้ของบริษัทเอกชน (Corporate Debt Index) ประจำปี 2566 ว่า 

ยอดหนี้สุทธิคงค้างในปี 2564/65 เพิ่มขึ้น 6.2% nine มาอยู่ที่ 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 257.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งแซงหน้าจุดสูงสุดก่อนหน้าในปี 2563/2564 ขณะที่ปริมาณหนี้สินใหม่สุทธิของบรรดาบริษัททั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นแตะ 4.56 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564/65 

จากสถานการณ์ข้างต้นประกอบกับสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ประเมินว่า ความต้องการกู้ยืมของบรรดาบริษัทเอกชนอาจลดลง โดยคาดว่าหนี้สุทธิจะลดลง 1.9% ในปี 2566/67 มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7.65 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 252.45 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ดี บริษัทในสหรัฐส่วนใหญ่ล้วนใช้ “พันธบัตรอัตราดอกเบี้ยคงที่” เป็นแหล่งเงินทุนหลัก ดังนั้นก็ยังนับว่าได้รับการปกป้องจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่  เพราะหมายความว่าต้นทุนการเงินไม่ได้สูงเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต่างจากบรรดาบริษัทในยุโรปที่ส่วนใหญ่หาเงินทุนจากธนาคารที่คิด “อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว” ทำให้บรรดาบริษัทเหล่านี้เริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่สุดในรอบทศวรรษ

พิษดอกเบี้ยขาขึ้นทำ “ยอดล้มละลาย” ทั่วโลกกระฉูด เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้อื้อ

ถัดจากปัญหาหนี้ของหลายประเทศ อีกหนึ่งแรงกดดันที่เห็นได้ชัดที่สุดจาก“ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” คือ ยอดล้มละลายทั่วโลก โดยเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) ผู้ให้บริหารข้อมูลการตลาดและการเงินระดับโลก สัญชาติอเมริกัน เปิดเผยว่า “ยอดการล้มละลาย” ของบริษัททั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

โดยปริมาณการล้มละลายของบางประเทศแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2551 ประกอบกับมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “การผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่”  ท่ามกลางสถานการณ์อุปสงค์ที่ลดลง สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อ ยอดหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ยอดการล้มละลายในประเทศหลักทั่วโลกในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2566 ภายใต้การดูแลของเอสแอนด์พี ประกอบด้วย 

  • ยอดล้มละลายของบริษัทในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2553 
  • ยอดการประกาศล้มละลายในอังกฤษและเวลส์ของภาคธุรกิจก็ใกล้แตะสูงสุดในรอบ 14 ปี 
  • ยอดการประกาศล้มละลายในยุโรปและสวีเดนแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษไปแล้ว
  • ยอดการล้มละลายในเยอรมนีเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปีก่อน นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2559 
  • ยอดการล้มละลายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 32.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,042 แห่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ ปกติยอดการล้มละลายของบริษัทมักจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อ “เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย” อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกำไรของบรรดาบริษัทต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดแรงงานกำลังฟื้นตัว ดังนั้นบรรดานักวิเคราะห์จึงมองว่า “ปัญหาการล้มละลายในระยะนี้เป็นเรื่องที่ไม่ปกติ”

โดยการย้อนกลับไปในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลหลายประเทศเร่งออกโครงการช่วยเหลือทางการเงินจำนวนมาก ขณะที่ระหว่างปี 2563-2564 บางประเทศเริ่มผ่อนคลายกฎหมายหรือกฎระเบียบสำหรับบริษัทที่ต้องยื่นฟ้องล้มละลาย นำไปสู่การระงับความล้มเหลวขององค์กรต่างๆ ไว้อย่างผิดปกติ ดังนั้นเมื่อความช่วยเหลือหมดลง บริษัทที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาตัวเองได้จึงเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อไม่นานมานี้

จากทั้งปัญหาหนี้สาธารณะทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับแรงกดดันมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกู้ยืมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปริมาณหนี้คงค้างทั่วโลกที่ก็ขยายตัวมากขึ้น ทั้งหมดถือเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา 

อย่างไรก็ตาม ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะและปริมาณหนี้คงค้างทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เป็นเรื่องที่ “ไม่น่ากังวล” มากนัก

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคือการที่หลายประเทศรวมตัวกันเพื่อกู้เงินไปใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติ ซึ่งปกติแล้วรัฐบาลจะใช้วิธี “Debt Monetization”  หรือการออกหนี้ใหม่เพื่อไปจ่ายหนี้เก่า อย่างเช่นการออกพันธบัตร ดังนั้นจึงอาจไม่ต้องกังวลเรื่องการผิดนัดชำระเพราะมีขั้นตอนและวิธีการในการใช้หนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีที่น่าห่วงและควรต้องติดตาม คือ หากสถานการณ์การเมืองในบางประเทศผันผวน รัฐบาลออกพันธบัตรใหม่เพื่อไปจ่ายหนี้สาธารณะแล้วไม่มีนักลงทุนเข้าซื้อเพราะเครดิตไม่ดี สุดท้ายอาจจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการไปกู้หน่วยงานการเงินต่างประเทศอย่างธนาคารโลก (เวิลด์ แบงก์) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบค่าเงินของประเทศนั้นๆ ให้ผันผวนหนัก โดยหนึ่งในกลุ่มประเทศที่น่าห่วงคือลาตินอเมริกา เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีกลุ่มการค้าและใช้สกุลเงินต่างชาติในการทำธุรกิจ

“ถ้าถามว่าประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะและยอดหนี้คงค้างสูงขึ้นน่ากังวลแค่ไหน แล้วจะกระทบไทยไหม ผมมองว่ายังไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะมันเป็นปัญหาของแต่ละประเทศ คล้ายเป็นการถามว่าถ้าประเทศเพื่อนบ้านเป็นหนี้ เราจะต้องกังวลว่าจะกระทบเสถียรภาพเราไหม ผมว่าเป็นการมองไกลจนเกินไป แต่สิ่งที่อาจจะต้องกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้คือตอนนี้ปริมาณหนี้สูงแล้ว ในอนาคตหากเกิดวิกฤติคล้ายโควิด-19 อีกอาจเป็นเรื่องยากที่จะก่อหนี้เพิ่ม”

สำหรับสถานการณ์หนี้สาธารณะในประเทศไทย ดร.จิติพล มองว่า ยังไม่น่ากังวลเช่นเดียวกัน เนื่องจากปริมาณหนี้สาธารณะยังไม่สูง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และธรรมชาติเศรษฐกิจไทยมักเกินดุลการค้า แม้จะขาดดุลการคลังก็ตาม 

ขณะที่ นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี  2565 หนี้ทั่วโลก ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นหนี้ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 1 ใน 3 และของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 2 ใน 3 

สำหรับหนี้ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วถึงแม้จะมีอัตราส่วนที่มากกว่า แต่ก็มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือมูลหนี้ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่แม้จะน้อยแต่ความสามารถในการจ่ายคืนต่ำ จึงต้องติดตามดูว่า หากประเทศเหล่านี้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องจะมีวิธีในการแก้ปัญหาอย่างไร

กรณีดังกล่าว นายกิจพล ให้ความเห็นไว้ใน 2 ฉากทัศน์ คือ  

  1. กรณีที่เบาที่สุด อาจเลือกที่จะขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟหรือเวิลด์แบงก์เพื่อมาใช้หนี้ดังกล่าว
  2. กรณีร้ายแรง คือ ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ประเทศเหล่านั้นก็จะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และเข้าสู่ “การผิดนัดชำระหนี้” ในที่สุด ซึ่งก็จะกระทบประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วยอย่างหนัก

“หนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่น้อย อยู่เพียง 1 ใน 3 แต่ก็มีความเปราะบางมากเพราะอ่อนไหวต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวน รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศก็ไม่แข็งเเกร่ง ทั้งยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งยังไม่รวมประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าอีก ทั้งหมดจึงทำให้ประเด็นเรื่องหนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ค่อนข้างน่ากังวลในระยะกลางถึงระยะยาว”

ท้ายที่สุด ทั้งจากปริมาณหนี้สาธารณะของทั่วโลกและยอดหนี้คงค้างของ 6 เดือนแรกในปี 2566 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นหนึ่งความท้าทายที่ทั้งโลกต้องแบกรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การของภาระหนี้ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เปราะบางจนอาจนำไปสู่ระเบิดเวลาลูกใหม่ นั้นคือ “การผิดนัดชำระหนี้” แน่นอนว่าถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง เศรษฐกิจโลกคงหนีไม่พ้นที่จะเผชิญกับวิกฤติครั้งใหม่