เปิดกลยุทย์เคลื่อนธุรกิจ‘ฟินเทค’ สู่ยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการเงิน

เปิดกลยุทย์เคลื่อนธุรกิจ‘ฟินเทค’  สู่ยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการเงิน

สถิติปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ในปี 2565 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน Mobile Banking , Internet Banking และ e-Wallet เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนมีสัดส่วนมากถึง 92.4% ของการทำธุรกรรมทั้งหมด

สะท้อนรูปแบบการทำธุรกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ "FinTech" (Financial Technology) กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เคย

หนึ่งในนั้นคือ DeeMoney (ดีมันนี่) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเจ้าแรกๆ ในไทย ดำเนินธุรกิจกว่า 5 ปี นับตั้งแต่ได้ใบอนุญาตจากธปท. เมื่อปี 2560 สู่ผู้นำอันดับ 1 ของไทยในแง่ของ Cross-Border Payments (บริการชำระเงินต่างประเทศ) ในตลาด Non-Bank ที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่ง DeeMoney ให้บริการโอนเงินเข้ามาที่ประเทศไทยได้มากกว่า 100 ประเทศ และสามารถโอนเงินออกไปยังต่างประเทศได้มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

"อัศวิน พละพงศ์พานิช" ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด หรือ "DeeMoney" เผยว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมามียอดธุรกรรมมากกว่า 2 ล้านรายการ มูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าที่ยืนยันตัวตนกับบริษัทแตะ 1 แสนราย จากฐานลูกค้าทั้งหมดกว่า 2 ล้านรายในปัจจุบัน ที่มีการยืนยันตัวตนกับบริษัทมาแล้วราว 3 หมื่นราย สะท้อนจากความต้องการรูปแบบการเงินที่ทันสมัย และความสำคัญของ "ฟินเทค" ในยุคปัจจุบัน

“อัศวิน” เผยมุมมองถึงอนาคต “ฟินเทค” ไทย ในธีม “The Next Big Thing” ผ่านงาน Creative Talk Conference 2023 ว่า ฟินเทคจะเข้ามาเป็นอุตสาหกรรมที่ผลักดันเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทย แม้ต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาด COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับส่งผลให้ฟินเทคเติบโตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ที่ประเมินธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท และมีอัตราเติบโตกว่า 20%

แม้ว่าการลงทุนตลาดฟินเทคทั่วโลกจะอ่อนแอระยะสั้นในปี 2566 จากแรงกดดันเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อภาคเทคโนโลยี แต่แนวโน้มระยะยาวการลงทุนฟินเทคยังคงเป็นบวกและยังมีความคาดหวังการเติบโตจากฝั่งเอเชีย ด้วยการเปิดรับของผู้ให้บริการที่อยู่บนโลกธุรกิจบริการดิจิทัลที่ร่วมมือกัน ผ่านการให้บริการทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded finance) ด้วยการนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ เช่น การชำระเงิน ประกัน เงินฝาก การลงทุน ของผู้ให้บริการรายอื่นบนอีโคซิสเต็มของตัวเองผ่านการใช้งานดิจิทัล (Financial-services as-a-platform ) เช่น บนเทคโนโลยีบล็อกเชน

และสิ่งสำคัญคือ การเกิดขึ้นของ “Virtual banking หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” ซึ่งประเทศไทยเตรียมประกาศใบอนุญาตใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่สำคัญในสภาวะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี คือ “Innovation หรือ นวัตกรรม” ในการสร้างสินค้าและบริการขึ้นมาใหม่ พร้อมเปลี่ยนตลาด และคิดในมุมมองผู้บริโภคเสมอ โดยคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และค้นหาวิธีการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทางการเงินในอดีต เป็นบทเรียนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจฟินเทคในอนาคต เพราะถ้าหากบริษัทฟินเทคไม่ปรับรูปแบบการดำเนินงานภายในองค์กรจะไม่สามารถเห็นทิศทางบริษัทในอนาคตจะโตอย่างไร และจะไปไม่รอดในท้ายที่สุด

"สตาร์ตอัปฟินเทค” จะสามารถอยู่รอดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ ต้องมี 3 สิ่งสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องมูลค่าและยอดขาย แต่เป็นการบริหารจัดการทุกส่วนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

1) กลยุทธ์ด้านการเงิน (Financial strategy) เรื่องการดูแล บริหารจัดการเงินลงทุนให้เหมาะสมกับสอดคล้องกับรายได้ และการเจริญเติบโตของธุรกิจ เพื่อให้เห็นชัดว่าโมเดลธุรกิจที่ทำอยู่เป็นไปได้จริง

2) ความยั่งยืน (Sustainable) การนำธุรกิจไปสู่ผลประกอบการที่มีการรับรู้กำไร (Profitability) อย่างต่อเนื่อง ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการสร้างกำไรอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่กำไรที่ได้ต้องมีความยั่งยืนและอยู่ได้ในระยะยาว

3) สร้างผลกระทบต่อสังคม (Social impact) หากบริษัทจะมีกำไรที่ดี คงไม่เพียงพอสำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้ เพราะเมื่อบริษัทเติบโตก็ย่อมมีผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) เช่น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน ในฐานะผู้ให้บริการเราจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ที่ต้องสร้างคอมมิวนิตี และสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีให้เกิดขึ้น

“สูตรสำเร็จของธุรกิจไม่ใช่คำนึงถึงแต่ผลกำไร แต่จะต้องส่งเสริมสังคมไปด้วยพร้อมกัน”

2 เทรนด์สำคัญสำหรับสตาร์ตอัป ในการทำธุรกิจในไทยและต่างประเทศ คือ 1) AI และการทำ Automation เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าคนทั้งโลกจะหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ ซึ่งมีคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นและคนจะหันมาโฟกัสเพิ่มคือ เทคโนโลยีIoT (Internet of Things) และ อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart devices) ที่มีรูปแบบการทำงานที่เชื่อมโยงกันและสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันผ่านอินเทอร์เน็ต 

และ2) Open banking ที่ผู้บริโภคสามารถขอใช้บริการกับผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่ ในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลของตนที่มีอยู่ที่ธนาคารต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

"ภาพทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่สิ่งที่ถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วคือ Mobile device และ Application ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแอปพลิเคชันเดียวจะไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าได้ เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฟังก์ชันของการพัฒนาโปรดักส์"

รวมทั้งอนาคตโลกการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปจากการเข้ามาของ อินเทอร์เน็ตในยุค IoTs ที่ความเร็วจะสปีดไวขึ้นในทุกปี ทำให้มี AI ที่จะเข้ามาทดแทนธุรกิจที่ทำอยู่ได้ไวมาก ทำให้ผู้บริโภคจะมีโปรดักส์มาให้เลือกและมีความหลากหลายมากขึ้น ฉะนั้นผู้ประกอบการ จำเป็นต้องคิดล่วงหน้ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เพราะบริบทของสินค้าและบริการก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปไวด้วยเช่นกัน