เปิดมุมมอง ‘6 สินทรัพย์ลงทุน’ ครึ่งปีหลัง ใน ‘ความสงบก่อนพายุจะมา’

เปิดมุมมอง ‘6 สินทรัพย์ลงทุน’ ครึ่งปีหลัง ใน ‘ความสงบก่อนพายุจะมา’

ตลาดหุ้นสหรัฐ พบกับจุดต่ำสุดตั้งแต่ต.ค.65 หลังเงินเฟ้อชะลอตัว แม้ตลาดแรงงาน และดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจยังคงร้อนแรง สร้างความคาดหวังว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งนี้ อาจสิ้นสุดลง คุมเงินเฟ้อได้ พร้อมพยุงให้เศรษฐกิจไม่ถดถอย (Soft Landing)

ก่อนที่ เฟดจะเติมเต็มความคาดหวังให้นักลงทุน ด้วยการหยุดขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง พร้อมกับการ สื่อสารอย่างชัดเจนว่า แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเท่าที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า “เงินเฟ้อจะ กลับเข้าสู่ เป้าหมายอย่างยั่งยืน”  และการหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปเพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังเฟด ขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างยาวนาน

เมื่อมองไปข้างหน้าจะพบว่า แนวโน้มการแรลลี่ดังกล่าวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังอาจเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องอีกระยะ จากความชัดเจนของ เฟด ที่ส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่รุนแรง และพร้อมหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินผ่อนคลายลง ซึ่งสอดคล้องกับสถิติย้อนหลังตั้งแต่ ปี 2537  ที่ระบุว่า ตลาดมักปรับตัวขึ้น 3 ใน 4 ครั้งเมื่อ “เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย” 
 

แนะการลงทุน 6 กองทุน ครึ่งปีหลัง 66
“ตลาดหุ้นสหรัฐ” มีโอกาสปรับตัวลง เหตุเศรษฐกิจอ่อนแอ

สำหรับมุมมองการลงทุนครึ่งปีหลัง 2566   “ณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์”  Head of Portfolio Specialist บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด  กล่าวว่า ทาง FINNOMENA Investment Team ประเมินว่า ในครึ่งปีหลังนี้ มีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลง เนื่องจากตลาดแรงงานที่เป็นเครื่องจักรสำคัญต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะถูกกระทบหลังดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง US Conference Board Leading Indicator ที่รวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจจำนวนมาก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจจริง ส่งสัญญาณอ่อนแรงอย่างชัดเจนที่ระดับ -4.7 จุด

สอดคล้องกับนโยบายการเงินที่แม้จะลดความรุนแรงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงมาแล้ว แต่สภาพคล่องของสหรัฐฯ ยังคงลดลงต่อเนื่อง จากการทำ Quantitative Tightening (QT) และการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารต่างๆ ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อการการบริโภค ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ จะย่ำแย่ลงเนื่องจากมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและรายได้ลดลงจากการบริโภคที่ชะลอตัว ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะกดดันให้ตลาดปรับตัวลงในที่สุด
 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะไปต่อในระยะสั้น และให้ระวังตลาดหุ้นยุโรป

ด้านญี่ปุ่นและยุโรป  “ณัฐนันท์” กล่าวว่า   มีจุดแตกต่างกันที่สำคัญคือ ‘นโยบายการเงิน’ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าชื่นชอบอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าในช่วงนี้ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กลับแสดงท่าที่ชัดเจนเช่นกันว่า เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องปราบปรามอย่างจริงจัง ทำให้ในระยะสั้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังมีโอกาสฟื้นตัวจากสภาพคล่องที่ยังถาโถมเข้ามาจาก BoJ แต่ท้ายที่สุดแล้ว BoJ จะต้องเปลี่ยนท่าที เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ ECB จะเดินหน้ากดดันเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

จึงแนะนำทยอยลดสัดส่วนของกองทุนหุ้นยุโรป และญี่ปุ่นตามลำดับ เพื่อลดความเสี่ยง

ตลาดหุ้นจีน ยังมี อัพไซด์ จากความหวังรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่จีนซึ่งผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ไปแล้วในช่วงต้นปี ได้ประกาศเป้าหมาย GDP ปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 5.5% ต่อปี

“ณัฐนันท์ “ กล่าวว่า ที่ผ่านมา จีนยังสงวนท่าทีต่อการออกมาตรการทางการคลังเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน มีเพียงการเสริมสภาพคล่องผ่านนโยบายการเงิน ทั้งการลดอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำ (RRR), อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF), อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) และการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธนาคารต่างๆ เท่านั้น ทำให้ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อนแรงจนสามารถพยุงเศรษฐกิจโลก รวมถึงสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปในฐานะคู่ค้าที่สำคัญ เป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามข่าวลือเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่ง FINNOMENA Investment Team ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ แต่มาตรการดังกล่าวที่จะถูกประกาศออกมา อาจจำกัดเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน อาทิ อสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคเท่านั้น เพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนเป็นไปได้ตามเป้าหมาย แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจ

ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจและการลงทุนของจีนในปีนี้ จะยังมี Upsideและมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับ ประเทศเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่อื่นๆ ที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจไม่เท่ากับช่วงต้นปีที่ ความหวัง การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนยังเต็มเปี่ยม

กองทุนหุ้นจีน ที่ FINNOMENA แนะนำ ณ ขณะนี้คือ K-CHINA-A(A) และ ABCA-A หรือ KT-Ashares-A เพื่อรับโอกาสการเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ตราสารหนี้ กลุ่ม High Grade และตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจ

“ณัฐนันท์” กล่าวว่า แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย อีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ตราสารหนี้กลุ่ม Investment Grade ระดับบน ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงที่สุดในรอบ 13 ปี พร้อมด้วยแนวโน้มการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิด Downside Risk ที่ต่ำ และ Potential Upside ที่สูงจากโอกาสการลดดอกเบี้ยในช่วงปี 2024

กองทุนตราสารหนี้ ที่ FINNOMENA แนะนำ ณ ขณะนี้คือ UGIS-N เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ไม่ผันผวนสูงจาก Duration ที่ต่ำ Yield และ Credit Rating เฉลี่ยสูงถึง A+

นอกจากนี้เวียดนามก็ยังเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ ด้วย P/E ต่ำที่ 10.5 เท่า ทำให้มูลค่าตลาดหุ้นเวียดนามต่ำกว่าตลาดทั่วโลกอย่างมาก ขณะที่เวียดนามยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง

ปัจจัยที่เคยกดดันได้ผ่อนคลายลงไปแล้ว ทั้งปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แก้ไขอย่างเป็นระบบ การคงดอกเบี้ยของ Fed ได้ลดแรงกดดันต่อธนาคารกลางเวียดนามให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ และจากความผูกพันด้านการค้ากับจีนอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ไม่ว่าจีนจะฟื้นช้าหรือเร็ว เวียดนามก็ยังได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งปีหลังได้ดี

กองทุนหุ้นเวียดนาม ที่ FINNOMENA แนะนำ ขณะนี้คือ PRINCIPAL VNEQ-A ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นเวียดนามที่ มีประวัติยาวนานที่สุด พร้อมด้วยผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ