‘แบงก์’เข้มปล่อยสินเชื่อ SME หันระดมทุนคราวด์ฟันดิง

‘แบงก์’เข้มปล่อยสินเชื่อ  SME หันระดมทุนคราวด์ฟันดิง

“เงินทุน” นับเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจหรือการขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น แต่ด้วยจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก( SMEs) หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ (Startup)

ได้รับผลกระทบปัญหาทางการเงินขาดสภาพคล่อง และปัญหาในการระดมทุน และยากที่จะขอกู้เงินกับธนาคารในสถานการณ์ตอนนี้  จากรายได้และสินทรัพย์ที่มีคงไม่พอใช้เป็นหลักประกัน แต่"คราวด์ฟันดิง" (Crowdfunding) ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

ณัทสุดา พุกกะณะสุต  ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 มีบริษัทออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในตลาดจำนวน 327 ราย เป็นมูลค่าการระดมทุน 1.6 พันล้านบาท ซึ่งถือว่ามีจำนวนบริษัทเข้ามาระดมทุนมากกว่าทั้งปี 2565ที่มีจำนวน 308 ราย  คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 4.1 พันล้านบาท เนื่องจากความต้องการระดมทุนของเธุรกิจ SME เพิ่มมากขึ้นและการรับรู้ถึงตลาดคราวด์ฟันดิงมากขึ้น 

 

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ระบุ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ยอดระดมผ่านคราวด์ฟันดิงมูลค่ารวม 2,142.59 ล้านบาท 

“การที่ตลาดคราวด์ฟันดิงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด สะท้อนความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจรายเล็ก หรือเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก และคาดว่าตลาดจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปีนี้ธนาคารต่างๆมีการปล่อยสินเชื่อน้อยลง”

ณัทสุดา กล่าวว่า เอสเอ็มอีมีความต้องการเงินทุนมากขึ้น สำหรับการขยายธุรกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลายตัวเพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจากการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

ขณะที่การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวดขึ้น จากรายงานการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงของธนาคารแห่งประเทศไทย และมีต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยรวม 6 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจขนาดเล็ก กลางและใหญ่เป็นไปได้ยาก

รวมทั้ง ก.ล.ต.ได้มีการขยายประเภทของกลุ่มนักลงทุนในตลาด โดยเพิ่มกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ที่สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นการเพิ่มกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่มีความสนใจในตลาดนี้เข้ามา ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนในตลาดให้เติบโตมากขึ้นไปอีก

โดย คราวด์ฟันดิง ตามนิยามของ ก.ล.ต. คือการระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิงเป็นการระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (the crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (funding portal) โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ลงทุนแต่ละรายจะลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่จะอาศัยพลังของจำนวนผู้ลงทุนที่มากพอจนสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของธุรกิจได้

สำหรับประเทศไทย มีผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจาก ก.ล.ต. จำนวน 6 รายด้วยกัน ได้แก่ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลต​ฟอร์ม จำกัด, บริษัท สยาม วาลิดัส แคปปิตอล จำกัด, บริษัท เอฟเอส สยาม จำกัด, บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด, ​บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท รวมใจไทยสู้ จำกัด

รูปแบบคราวด์ฟันดิงในปัจจุบันมีหลากหลายแบ่งออกได้ 4 ประเภท ทั้งคราวด์ฟันดิงในรูปแบบบริจาค (Donation) เช่นคราวด์ฟันดิงโรคมะเร็งหรือการระดมทุนในรูปแบบกู้ยืม (Peer to Peer) และ การระดมทุนในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment) ซึ่งแบบสุดท้ายนี้จะแบ่งออกเป็นการระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้น กับ หุ้นกู้

แพลตฟอร์มคราวด์ฟันดิง ถือว่าเป็นหนึ่งใน 'อัลเทอร์เนทีฟ ไฟแนนซ์' การลงทุนทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก ทั้ง เวิลด์แบงก์ และ International Finance Corporate หรือ IFC และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็น‘ฟินเทค’ที่มีสเถียรภาพ ซึ่งในอังกฤษและอเมริกาคราวด์ฟันดิงถูกใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ถ้าเทียบเรื่องการเข้าถึงและเข้าใจในประเทศไทยถือว่าล้าสมัย 

การใช้ประโยชน์จากตลาดทุนผ่านการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ ก.ล.ต. ในการพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล”  รวมทั้งในประเทศพื้นบ้านอย่างเช่น ประเทศเวียดนามก็ได้รับการยอมรับ และมีการออกใบอนุญาตเพื่อรองรับตลาดนี้ ทำให้คราวด์ฟันดิ้งควรเป็นหนึ่งในตัวเลือกการลงทุน ที่ควบคู่ไปกับระบบการเงินหลักที่ยังต้องดำเนินต่อไป เพราะถ้าหากระบบการเงินหลักล้ม เพราะการลงทุนทางเลือกไม่สามารถเข้ามาแทนที่และทำหน้าที่แทนระบบการเงินหลักได้

โดย Market Data Forecast บริษัทวิจัยตลาดทุนระดับโลกในอินเดีย เผยแพร่รายงานการเติบโตของตลาดคราวด์ฟันดิงทั่วโลก คาดการณ์ว่าตลาดสามารถเติบโตไปสู่ระดับ 34.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตต่อเฉลี่ยต่อปี 17% ในระหว่างปี 2564 ถึง 2569

เนื่องจากรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างจากตลาดการลงทุนแบบดั้งเดิม ที่นักลงทุนสามารถพิจารณาหรือประเมินความเสี่ยงของผู้ที่ต้องการเงินทุนก่อนลงทุนได้ และช่องทางการระดมทุนผ่านเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายขึ้น รวมทั้งการเติบโตของเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นตลาดครั้งนี้ และการเติบโตส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก